ลำพูน – สภ.นิคมอุตสาหกรรมลำพูน นำร่องขับเคลื่อนโครงการ Smart Safety Zone 4.0 ระยะที่ 2
ลำพูน – สภ.นิคมอุตสาหกรรมลำพูน นำร่องขับเคลื่อนโครงการ Smart Safety Zone 4.0 ระยะที่ 2
สถานีตำรวจภูธร(สภ.)นิคมอุตสาหกรรมลำพูน เสริมเกราะพื้นที่ชุมชนนำร่องขับเคลื่อนโครงการ Smart Safety Zone 4.0 ระยะที่ 2 สนองนโยบายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ที่มุ่งเน้นสร้างความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน โดยได้หลอมรวมการทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่คอมมูนิตี้โปลิศซิง ร่วมกับเทคโนโลยีระบบ AI สมัยใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามหตุอาชญากรรมในพื้นที่อย่างทันท่วงที
สำหรับโครงการ Smart Safety Zone 4.0 ช่วงระยะแรกใน 15 สถานีนำร่อง ได้ดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการสนับสนุนของทุกภาคส่วนที่ช่วยกันสร้างมิติใหม่แห่งความปลอดภัย “เปลี่ยนที่เปลี่ยวให้เป็นที่ปลอด (อาชญากรรม) ตามแนวทาง Smart City” เพื่อสร้างความเชื่อมั่น อุ่นใจ ปลอดภัย ในชุมชน
ในระยะที่สอง พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ( ผบ.ตร.) มีนโยบายให้ขยายโครงการเข้าสู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยคัดเลือก 1 พื้นที่ 1 จังหวัด และมอบหมายให้ 15 สถานีแรกเป็นสถานีต้นแบบ ในการขับเคลื่อนโครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 ให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพทั่วทุกจังหวัดต่อไป
ในส่วนของพื้นที่จังหวัดลำพูน โดยการนำของ พลตำรวจโท ปิยะ ต๊ะวิชัย ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 5(ผบช.ภ.5) ได้มอบหมายให้ พลตำรวจตรี มงคล สัมภวะผล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด(ผบก.ภ.จว.)ลำพูน เป็นผู้คัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย และได้คัดเลือก สภ.นิคมอุตสาหกรรมลำพูน เป็นพื้นที่หลักในการนำร่องดำเนินโครงการฯ โดยใช้พื้นที่ หมู่ที่ 5 บ้านม้าใต้ และ หมู่ที่ 6 บ้านม้าเหนือ ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เป็นพื้นที่เป้าหมายภายใต้ใช้ชื่อโครงการ “บ้านม้า smart safety Zone 4.0”
พันตำรวจเอก วีรชาติ ระตะเจริญ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนิคมอุสาหกรรมลำพูน เปิดเผยว่า สำหรับโครงการ Smart Safety Zone 4.0 ระยะที่ 2 ของพื้นที่ สภ.นิคมอุตสาหกรรมลำพูน ที่ผ่านมา ได้มีการเริ่มดำเนินโครงการฯ ได้ในระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา โดยได้ยึดหลักองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้
1. สำรวจกล้อง closed circuit television หรือ CCTV(ระบบการบันทึกภาพเคลื่อนไหวด้วยกล้องวงจรปิด)ในพื้นที่ ปรับมุมกล้อง และบูรณาการการใช้งานกล้องร่วมกันพร้อมติดตั้งเพิ่มเติม
2. นำนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรม เช่น มีการติดตั้งกล้อง Artificial Intelligence(AI) ตรวจจับใบหน้า และกล้อง AI ตรวจจับป้ายทะเบียนรถยนต์ เป็นต้น
3. ติดตั้งเสาสัญญาณ Save Our Souls(SOS) สัญญาณขอความช่วยเหลือ เพื่อประชาชนสามารถแจ้งเหตุด่วนได้ทันที
4. จัดทำห้องปฏิบัติการ Command And Control Operations Center(CCOC) โดยเชื่อมสัญญาณจากกล้องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานราชการ และเอกชนมายังห้องปฏิบัติการและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เพื่อคอยควบคุมสั่งการได้ตลอด 24 ชั่วโมง
5. ใช้แอพพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อความรวดเร็วในการสื่อสาร เช่น POLICE 4.0, POLICE I LERT U, Line OA แจ้งความออนไลน์ รวมถึงการสร้าง Cyber Village เป็นต้น
6. ร่วมกับหน่วยงานในท้องที่ปรับภูมิทัศน์ของพื้นที่เสี่ยง ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เช่น ตัดแต่งต้นไม้กิ่งไม้ในพื้นที่รกร้าง ขีดสี ตีเส้นการจราจร ทำความสะอาดพื้นที่ ติดไฟฟ้าส่องสว่าง เป็นต้น
7. แสวงหาความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อสร้างกลไกการมีส่วนร่วมจากประชาชนในการช่วยป้องกันอาชญากรรม เป็นต้น ที่ผ่านมาได้มีการติดตามประเมินผลทุกระยะอย่างต่อเนื่อง โดยมี พลตำรวจตรี บัณฑิต ตุงคะเศรณี รองผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 5 เป็นประธานคณะกรรมการในการติดตามประเมินผลของโครงการ เพื่อให้โครงการดำเนินการขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ สำหรับ โครงการ Smart Safety Zone 4.0 เป็นโครงการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ได้ริเริ่มดําเนินการ โดยมีสาระสําคัญคือการป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง มุ่งหมายสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ เกิดขึ้นในชุมชน โดยการนํานวัตกรรมสมัยใหม่ ตามแนวคิดเรื่องเมืองอัจฉริยะ มาช่วยในการทํางานของตํารวจ เพื่อให้ชุมชนมีความปลอดภัยจากอาชญากรรม มีระดับความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมลดลงและมีความเชื่อมั่นใน ประสิทธิภาพด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมของเจ้าหน้าที่ตํารวจเพิ่มมากขึ้น..พันตำรวจเอก วีรชาติฯ เปิดเผยในที่สุด
กรรณิการ์ วิจิตรสกลการ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดลำพูน