23/11/2024

เชียงใหม่-ชวนมาชิล“จิบกาแฟแลดูเฟิร์น” ที่ เรือนร่มไม้ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่

ปิดแอร์ แบกเป้ออกบ้าน มาชมธรรมชาติ วิวหลักล้าน ใกล้ชิดพรรณไม้ จิบกาแฟ นั่งทำงานในบรรยากาศร่มรื่น ลดใช้พลังงาน ลดโลกร้อน ทั้งยังสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ เปิดตัวงาน”จิบกาแฟแลดูเฟิร์น”โดยมีนายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวต้อนรับ พร้อมชมความหลากหลายของเฟิร์น ไม้ใบ ไม้ฟอกอากาศ พร้อมถ่ายรูปจุดใหม่ ชมสาธิตการดริปกาแฟจากเมนูกาแฟ 7 ยอดดอย พร้อมเปิดตัวกาแฟสายพันธุ์ใหม่ ชมบูธจำหน่ายพรรณไม้ ไม้ใบ ไม้ฟอกอากาศ และสนุกกับกิจกรรมตามหา RC ไม้ฟอกอากาศ ลุ้นรับของที่ระลึก ณ เรือนร่มไม้ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่

หากคุณกำลังหาสถานที่เที่ยวพักผ่อน นั่งจิบกาแฟคุณภาพดีที่ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติสีเขียวขจี สูดอากาศบริสุทธิ์ได้อย่างเต็มปอด ห้ามพลาดที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ เพราะที่นี่เรามีร้าน “HRDI CAFE” ร้านกาแฟในสวน ที่ได้คัดสรรเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรบนพื้นที่สูงให้ได้เลือกลิ้มลองกันถึง 7 ยอดดอย สำหรับกาแฟที่ดีนั้นต้องปลูกในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป และต้องปลูกในพื้นที่ที่มีร่มเงา ปลูกแซมระหว่างต้นไม้ใหญ่ ไม่ต้องตัดต้นไม้เพื่อปลูกเหมือนพืชชนิดอื่น ในพื้นที่ปลูกกาแฟ 1 ไร่ จะได้ต้นไม้ใหญ่คืนมา 100 ต้น นับว่าการดื่มกาแฟนั้น นอกจากสดชื่นแล้วยังได้ช่วยรักษาป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว และช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรบนพื้นที่สูงอีกด้วย

สำหรับเมล็ดกาแฟที่ร้าน “HRDI CAFE” นั้น มาจาก 7 พื้นที่ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินงานส่งเสริม ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวาวี (กาแฟดอยช้าง) โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ่อเกลือ (กาแฟบ่อเกลือ
(ห้วยโทน)) โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลอง (กาแฟดอยลาง) โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลอง (กาแฟดอยแม่สลอง) โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางมะโอ (กาแฟดอยปางมะโอ) โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สอง (กาแฟดอยแม่สอง) โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย (กาแฟดอยสบเมย) มาให้ได้เลือกลิ้มลองกัน

จะนั่งจิบกาแฟในร้านมองดูวิวหลักล้านที่โอบล้อมไปด้วยไม้ดอกนานาพรรณ หอมสดชื่นไปกับกุหลาบหลายสายพันธุ์ หรือจะสั่งออนไลน์ไปนั่งจิบกาแฟตามสวนต่างๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น เรือนกล้วยไม้ เรือนไม้ดอก สวนนานาชาติ ฯลฯ และจุดที่แนะนำต้อง “เรือนร่มไม้” ถือเป็นอีกหนึ่งจุดไฮไลท์ที่เหมาะกับการนั่งจิบกาแฟชิลๆ เป็นที่สุด ด้วยบรรยากาศที่ร่มรื่นเย็นสบาย สามารถนั่งจิบกาแฟ นั่งทำงาน จัดประชุมกลุ่มเล็กๆ หรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศ สามารถช่วยลดพลังงาน ลดโลกร้อน เพราะในพื้นที่กว่า 4 ไร่ เต็มไปด้วยความหลากหลายของพรรณไม้ในร่ม กว่า 400 สายพันธุ์ และที่สามารถพบเห็นเป็นส่วนใหญ่ในพื้นที่แห่งนี้ นั่นก็คือ กลุ่มเฟิร์น แม้จะไม่มีสีสันแต่มองแล้วให้ความร่มรื่นชื่นใจ สบายตา สัมผัสไอหมอกเย็นท่ามกลางบรรยากาศแสนร่มรื่น สุดฮิปกับ Giant Leaf และฮอตฮิตกับไม้ด่างต่างๆ และห้ามพลาดกับมุมถ่ายรูปสุดเก๋กับ “เฟิร์นกูดต้นออสเตรเลีย” “เฟิร์นกีบแรด ” “ฟิโลหูช้าง” “บอนกระดาษ” และ “ปาล์มพระยาถลาง”

นอกจากนี้ ยังมีทางเดินยกระดับ (Sky walk) ที่สามารถชมพรรณไม้ได้จากมุมสูง สัมผัสมุมมองที่แปลกใหม่ได้ฟิลชมธรรมชาติไปอีกแบบ
หากใครมาเที่ยวชมอุทยานหลวงราชพฤกษ์ในช่วงระหว่างวันที่ 13-16 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.00 – 16.00 น. อย่าลืมแวะเที่ยวชมกิจกรรม “จิบกาแฟแลดูเฟิร์น” ณ เรือนร่มไม้

ภายในงานจะได้ชมความหลากหลายของเฟิร์น ไม้ใบ ไม้ฟอกอากาศ ดื่มด่ำเมนูกาแฟจากเมล็ดกาแฟ 7 ยอดดอย สนุกกับกิจกรรมตามหา RC ไม้ฟอกอากาศ พร้อมลุ้นรับของที่ระลึก เลือกช้อปพรรณไม้ ไม้ใบ ไม้ฟอกอากาศกันแบบจุใจ และในวันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม 2565 เวลา 10.30 – 11.30 น. สนุกกับกิจกรรม Mini workshop “การขยายพันธุ์ไม้ใบประดับ” ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้ความหลากหลายของเฟิร์นและไม้ใบประดับ ฝึกการขยายพันธุ์ไม้ใบในกิจกรรม และจะได้ต้นไม้กลับไปดูแลที่บ้านอีกด้วย

เปิดรับสมัครเพียง 20 คนเท่านั้น ราคาบัตรเข้าชมงานท่านละ 100 บาท พร้อมรับคูปองส่วนลด 30 บาท (สามารถใช้เป็นส่วนลดกาแฟหรือต้นไม้เฉพาะจุดจัดกิจกรรมเท่านั้น) หรือใครมาเที่ยวในวันอื่นๆ ก็สามารถ “จิบกาแฟแลดูเฟิร์น” ที่เรือนร่มไม้ได้ทุกวัน เพราะเรามีบริการสั่งกาแฟ
แบบ Delivery เพียงแค่สแกน QR CODE ตามจุดต่างๆ ทุกท่านก็ได้จิบกาแฟชิลๆ และยังได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเพิ่มพื้นที่ป่า ช่วยลดโลกร้อนและช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูงอีกตัวย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : 053-1141 10 หรือทางแฟนเพจ : อุทยานหลวงราชพฤกษ์

นภาพร/เชียงใหม่

ข่าวที่น่าติดตาม