23/11/2024

พิษณุโลก ม.นเรศวร แถลงข่าวเปิดตัวผลงานวิจัย “กรรมวิธีการผลิตเพลซิตินเกรดอาหารจากรําข้าวหรือถั่วเหลือง”

พิษณุโลก ม.นเรศวร แถลงข่าวเปิดตัวผลงานวิจัย “กรรมวิธีการผลิตเพลซิตินเกรดอาหารจากรําข้าวหรือถั่วเหลือง”

 


มหาวิทยาลัยนเรศวร แถลงข่าวเปิดตัวผลงานวิจัย การค้นพบกรรมวิธีการผลิตเลซิตินเกรดอาหารจากรำข้าวหรือถั่วเหลือง โดยใช้ผลิตผลพลอยได้ที่เรียกว่า “กัม” ที่มีปริมาณมากจากอุตสาหกรรมน้ำมันรำข้าวหรือน้ำมันถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบหลัก ทั้งนี้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันรำข้าวหรือน้ำมันถั่วเหลืองซึ่งเดิมทีจำหน่ายเป็นอาหารสัตว์ในราคาต่ำ จนได้รับการจดอนุสิทธิบัตรและพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาแก่ผู้ประกอบการและประชาชน โดยอนุสิทธิบัตรเรื่อง “กรรมวิธีการผลิตเลซิตินเกรดอาหารจากรําข้าวหรือถั่วเหลือง” นี้ ได้รับการสนับสนุน ทุนวิจัยจาก โครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ บริษัท น้ำมันรำข้าวสุรินทร์ จำกัด


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เหรียญทอง สิงห์จานุสงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นักวิจัย) กล่าวว่า เลซิติน (lecithin) คือ สารประกอบของไขมัน และฟอสฟอรัส หรือเรียกว่า ฟอสโฟลิปิด (phospholipid) มีสารสำคัญ คือ ฟอสฟาทิดิลโคลีน (phosphatidylcholine) ฟอสฟาทิดิลเอทาโนลามีน (phosphatidylethanolamine) ฟอสฟาทิดิลอิโนซิตอล (phosphatidylinositol) และ กรดฟอสฟาทิดิก (phosphatidic acid) เลซิตินมีลักษณะทั้งที่เปนของเหลว ข้น เหนียว และเป็นของแข็ง สามารถพบได้ตามธรรมชาติทั้งในพืชและสัตว์ ซึ่งจะพบมากในไข่แดง (9%) ถั่วเหลือง (4%) รำข้าว (2%) เมล็ดเรพสีด (2%) เมล็ดฝ้าย (1.5%) เมล็ดทานตะวัน (1%) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ร่างกายมนุษย์สามารถผลิตเลซิตินขึ้นได้เองจากตับ โดยมีสารตั้งต้นที่ร่างกายใช้ผลิตเลซิติน เช่น กรดไขมันจําเป็น วิตามินบี และสารอาหารสําคัญอื่น ๆ หากร่างกายได้รับสารอาหารต่าง ๆ เหล่านี้ไม่เพียงพอจะส่งผลให้ร่างกายสร้างเลซิตินได้ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ เลซิตินยังเป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ทุกชนิดและอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะในสมองมีเลซิตินเป็นส่วนประกอบมากถึง 30% ซึ่งเลซิตินจําเป็นต่อการควบคุมกระบวนการต่าง ๆ ภายในเซลล์ ให้ดําเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ กฤตสุนันท์กุล อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ (นักวิจัย) กล่าวเพิ่มเติมว่า การสกัดแยกเลซิตินเริ่มจาก นำกัมซึ่งเป็นผลิตผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำมันบริโภค ที่อยู่ในรูปของเหลว ข้นหนืด สีเหลืองเข้มถึงน้ำตาลเข้ม มาปรับคุณภาพด้วยตัวทําละลาย โดยคุณภาพของเลซิตินที่ดีจะต้องมีสารประกอบ เช่น น้ำมัน คาร์โบไฮเดรต ในปริมาณน้อย และมีส่วนประกอบของฟอสโฟลิปิดในปริมาณสูง โดยเฉพาะฟอสฟาทิดิลโคลีน ซึ่งเลซิตินที่วางจําหน่ายตามท้องตลาดมี 3 รูปแบบ คือ แบบของเหลว แบบแคปซูล และแบบผง บทบาทที่สำคัญ ของเลซิตินคือ มีสมบัติเป็นอิมัลซิไฟเออร์ (emulsifier) ซึ่งเป็นวัตถุเจือปนอาหาร ที่ทําให้น้ำและน้ำมันสามารถรวมตัวกันได้ ด้วยคุณสมบัตินี้จึงทําให้ไขมันแขวนลอยในน้ำได้ดีขึ้น ส่งผลให้เลซิตินถูกนํามาใช้อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ในอุตสาหกรรมการผลิตเนยเทียม หรือมาการีน มีการเติมเลซิตินลงไป เพื่อให้น้ำสามารถรวมตัวได้กับน้ำมัน และช่วยป้องกันการกระเด็นของน้ำมันเมื่อใช้มาการีนทอดอาหาร ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มโกโก้ เลซิตินช่วยทําให้ส่วนผสมที่ไม่ค่อยละลายน้ำให้ละลายในน้ำได้เร็ว และในอุตสาหกรรมลูกกวาด โดยเฉพาะลูกกวาดที่มีความนุ่ม เช่น คาราเมลจะมีการเติมไขมันเพื่อลดความเหนียวแข็ง ทําให้ลูกกวาดนุ่มขึ้น และตัดเป็นชิ้นไม่ติดกัน


นายชินกฤต ศรีนวล นักวิจัยร่วม (ศิษย์เก่าปริญญาโท) เปิดเผยว่า กรรมวิธีการผลิตเลซิตินเกรดอาหาร จากรําข้าวหรือถั่วเหลือง มีขั้นตอนการผลิต ดังนี้ นํากัมที่ได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันรําข้าวหรือน้ำมันถั่วเหลืองมาแยก สิ่งปลอมปนออกด้วยตัวทําละลายเฮกเซน โดยใช้วิธีการปั่นเหวี่ยง จากนั้นนํากัมที่ได้มากําจัดน้ำมันออกด้วยตัวทําละลาย อะซิโตน โดยใช้วิธีการตกตะกอน จะได้กัมที่มีปริมาณน้ำมันน้อย นํากัมที่ผ่านกระบวนการกําจัดน้ำมันมาทําให้บริสุทธิ์ด้วย ตัวทําละลายเอทานอล โดยให้ความร้อนเพื่อให้กัมละลาย เขย่าให้เข้ากัน และนําไปปั่นเหวี่ยง จากนั้น แยกเอาเฉพาะส่วน ที่ละลายในเอทานอลไประเหยเอทานอลออก จะได้เลซิตินบริสุทธิ์ ซึ่งในปัจจุบัน เลซิตินเกรดอาหารมีจําหน่ายเชิงพาณิชย์ในราคา 600 – 4,000 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ และแหล่งที่มา ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีมูลค่าเพิ่มสูงมากถึง 30 – 200 เท่าของราคากัม (20 บาทต่อกิโลกรัม) ปัจจุบัน ยังไม่มีเลซิตินจากข้าวที่จําหน่ายเชิงพาณิชย์ ดังนั้น จึงเป็น อิมัลซิไฟเออร์ชนิดหนึ่งที่น่าสนใจ และสามารถพัฒนากรรมวิธีการผลิตให้มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ จนได้รับ การจดอนุสิทธิบัตร
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวร “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ” พร้อมส่งเสริมการวิจัยเพื่อสร้างเกษตรมูลค่าสูง และพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาแก่ผู้ประกอบการและประชาชน อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศชาติ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โทรศัพท์ 0 5596 2379

ปรีชา นุตจรัส รายงานข้าวพิษณุโลก

ข่าวที่น่าติดตาม