23/11/2024

กาฬสินธุ์ ร้านอาหารอีสานซบเซาสุดในรอบ 30 ปี

ร้านอาหารประเภทลาบ ก้อย เนื้อวัว ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ซบเซาหนักสุดในรอบ 30 ปี ปริมาณขายลดลงจากภาคปกติ 50 % ผู้ประกอบการระบุสาเหตุจากสินค้าทุกประเภทปรับราคาสูงขึ้น สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อลดลงเป็นจำนวนมาก


เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงาน จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพค้าขาย ทั้งภายในตัวจังหวัดและต่างอำเภอของ จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงนี้พบว่าซบเซาเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งร้านอาหารประเภทลาบ ก้อย เนื้อวัว ซึ่งเป็นอาหารยอดฮิตของชาวอีสาน ที่เคยได้รับความนิยมของนักเปิบทั้งมื้อเช้า มื้อเที่ยง และมื้อเย็น กลับไม่มีลูกค้าอุดหนุน ผู้ประกอบการหลายรายต่างทยอยปิดกิจการและเซ้งร้านหนี เนื่องจากไม่มีลูกค้าเข้าร้าน และสู้ค่าเช่าร้านไม่ไหว จึงพบว่าเห็นป้ายปิดประกาศขายและประกาศให้เช่าอยู่ทั่วไป


นางนิตยา ยนต์ชัย อายุ 63 ปี เจ้าของร้านลาบก้อย ชุมชนปากทางเขื่อนลำปาว อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เปิดร้านบริการอาหารอีสานรสเด็ดมาประมาณ 30 ปี เดิมเคยรับเนื้อวัวมาปรุงอาหารขายวันละหลายสิบกิโลกรัม แต่ระยะหลังมานี้ ทั้งยอดขายและลูกค้าเริ่มลดลงเป็นจำนวนมาก โดยลดลงจากภาคปกติ 50 % เลยทีเดียว เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นชาวนา ชาวไร่ ปลูกข้าว ขายอ้อย ขายมันสำปะหลัง เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน จึงนิยมรับประทานอาหารประเภทลาบ ก้อย ทั้งปรุงสุก และสุกๆดิบๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย


นางนิตยากล่าวอีกว่า ในระยะนี้บรรยากาศการค้าขายเงียบเหงามาก เป็นผลสืบเนื่องจากราคาขายผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ขณะที่สินค้าเพื่อการอุปโภค บริโภคตามท้องตลาด มีการปรับราคาสูงขึ้นมาก สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ พอชาวบ้านที่เป็นลูกค้ามีรายได้น้อย และต้องจ่ายค่าปุ๋ยเคมี ค่ารถไถ ค่ารถเกี่ยวข้าวและค่าแรงหมด จึงไม่มีเงินเหลือพอที่จะมาซื้อลาบก้อยไปรับประทาน สำหรับตนที่ยังยืนหยัดเปิดร้านอาหารอีสารลาบก้อยอยู่ได้ เพราะร้านตั้งอยู่ในทำเลดี และมีลูกค้าขาประจำ ขณะที่หลายร้านไม่มีลูกค้าอุดหนุน จึงทยอยปิดกิจการไปประกอบอาชีพอื่น ตนจึงรักในอาชีพนี้ และจะขายลาบก้อยต่อไปแม้จะขายไม่ดีเหมือนก่อน โดยลดปริมาณรับซื้อเนื้อวัวลง แต่ยังขายราคาเท่าเดิม ทั้งนี้ได้นำอาหารประเภทไก่ย่าง ส้มตำ มาขายเสริมเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าด้วย


ด้านนายกิตติศักดิ์ เงาแสง อายุ 52 ปี เจ้าของร้านลาบก้อยปากทางเขื่อนลำปาวอีกราย กล่าวว่า บริเวณนี้เคยเป็นย่านเศรษฐกิจอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเคยมีผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหารจำนวนมาก ถือเป็นจุดศูนย์รวมการค้า การคมนาคม โดยจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยว ที่เดินทางจากต่างจังหวัดมาแวะพัก และรับประทานอาหาร ก่อนเดินทางไปท่องเที่ยวเขื่อนลำปาว ตนเองก็เปิดร้านขายอาหารพื้นบ้านอีสานเป็นอาชีพหลักมาประมาณ 30 ปี มีรายได้ซื้อรถ สร้างบ้าน ส่งเสียลูก 2 คนจบปริญญาโท แต่บรรยากาศการค้าขายช่วงนี้แตกต่างกับสมัยก่อนมาก เนื่องจากสินค้าทุกประเภทตามท้องตลาดขึ้นราคา ลูกค้าจึงประหยัดการใช้เงิน การขายลาบก้อยที่ร้านตนจึงไปได้เรื่อยๆ


นายกิตติศักดิ์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเขียงเนื้อมาส่ง กก.ละ 300 บาท เคยรับไว้ขายวันละ 100 ก.ก. ก็ลดปริมาณลงเหลือวันละ 20-30 ก.ก. บางวันขายไม่หมดก็แปรรูปเป็นส้มเนื้อ หม่ำเนื้อ ไส้กรอก จนกระทั่งกลายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปประจำร้าน ขายคู่กับลาบ ก้อย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เนื้อและอาหารอย่างอื่นจะขึ้นราคา ตนก็จะไม่ปรับขึ้นราคา และรักษาคุณภาพความสะอาด ปลอดภัย และไม่เปรียบผู้บริโภค เพราะเห็นใจที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคาสินค้าประเภทต่างๆขึ้นราคามากแล้ว

ข่าวที่น่าติดตาม