23/11/2024

มข. ผนึก 3 องค์กร ขับเคลื่อนความร่วมมือด้วยเทคโนโลยี ผลงานวิจัย นำเกษตรไทยสู่ความยั่งยืน

มข. ผนึก 3 องค์กร ขับเคลื่อนความร่วมมือด้วยเทคโนโลยี ผลงานวิจัย นำเกษตรไทยสู่ความยั่งยืน

วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ( มข.) ร่วมกับนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.) และ นายมรกต พิธรัตน์ นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น(สศ.มข.) ลงนามบันทึกข้อตกลงขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตร โดยบันทึกการลงนามนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนแบบมีส่วนร่วม ผลักดันงานวิจัย เทคโนโลยี นำเกษตรไทยสู่ความยั่งยืน โดยมีผู้บริหารคณาจารย์ สื่อมวลชน ร่วมงานจำนวนมาก ณ ห้องประชุมสารสิน อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือ มี 2 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับที่ 1 การลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยการพัฒนาวิชาการด้านการเรียนการสอน การวิจัยและการส่งเสริมการเกษตร ระหว่าง 2 หน่วยงาน ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นการลงนามบันทึกความเข้าใจเป็นครั้งที่ 2 โดยสืบเนื่องเพื่อสานต่อการบันทึกความเข้าใจครั้งที่ 1 เมื่อ วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ร่วมมือกันในการพัฒนาทางวิชาการด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการส่งเสริมการเกษตร ร่วมกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับกรมที่ใหญ่และมีบุคลากรมากที่สุดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นหน่วยงานที่ทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกรโดยมีเกษตรตำบล หรือนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้ที่ทำงานในในพื้นที่และพัฒนาเกษตรกรหรือผู้ประกอบการเกษตรในชุมชน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากของสังคมไทย


และ ฉบับที่ 2 การลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วย การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนแบบมีส่วนร่วม ระหว่าง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และ สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ร่วมมือกันในการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการเกษตรกรรมยั่งยืน การยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน ด้วยเทคโนโลยีด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม

“ในการร่วมมือทางวิชาการทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ระยะเวลาในการดำเนินการร่วมกัน 4 ปี นับจากวันลงนาม และอาจมีการลงนามในลักษณะเดียวกันนี้เพื่อสานงานต่อในระยะต่อไปอีก ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคมและเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันทราบมาว่า ได้มีการกำหนดแนวทางการดำเนินงานภายใต้บันทึกความร่วมมือในเบื้องต้นแล้ว ซึ่งจะได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายและแผนการดำเนินงานร่วมกันของแต่ละส่วนของโครงการหรือกิจกรรมย่อยต่อไป”

 

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ทางวิชาการ โดยทั้ง 2 หน่วยงาน มข. และ กสก. ว่าด้วย การพัฒนาวิชาการด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินการความร่วมมืออย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 และจะร่วมกันพัฒนาทางวิชาการร่วมกันด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการส่งเสริมการเกษตร โดยร่วมทำวิจัย ในหัวข้อเรื่องที่จะใช้แก้ปัญหาทางการเกษตร พร้อมทั้ง ขยายผลโครงการวิจัยทางด้านการเกษตรที่มีศักยภาพสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่การเกษตร พัฒนาบุคลากร และเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรควบคู่ไปกับการพัฒนาวิชาการด้านการเกษตร


“กำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างสี่หน่วยงาน ในการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนแบบมีส่วนร่วม คาดว่าจะสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการเกษตรกรรมยั่งยืน การยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน ด้วยเทคโนโลยีด้านเกษตรกรรมยั่งยืน และส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก ตลอดจน การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ชุมชน ทั้งนี้ แนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือ 4 หน่วยงาน จะร่วมกันส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินการเกษตรกรรมยั่งยืนแบบมีส่วนร่วมสู่พื้นที่เป้าหมาย ตามบทบาท หน้าที่ของแต่ละหน่วยงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สู่พี่น้องเกษตรกร”

ทั้งนี้การลงนามบันทึกข้อตกลงนี้ เพื่อเป็นแนวทางความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน ในการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนแบบมีส่วนร่วม โดยการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน ด้วยเทคโนโลยีด้านเกษตรกรรมยั่งยืน พร้อมทั้ง ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก ตลอดจน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมสู่ชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากควบคู่ไปกับการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ภายใต้การขับเคลื่อนผ่านชุมชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาต่อไป

จากนั้น ผู้บริหาร 4 หน่วยงาน ได้ร่วมเยี่ยมชมผลงานความร่วมมือที่ผ่านมา ผลงานวิจัยพร้อมใช้ประโยชน์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และเยี่ยมชมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนนตามแนวทางวนเกษตรของธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่การดำเนินกิจกรรมของ ธ.ก.ส. เพื่อเป็นแนวทางที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือ 4 หน่วยงาน ต่อไป

ข่าวที่น่าติดตาม