เชียงใหม่-กรมสุขภาพจิต แถลงข่าวการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น การจัดบริการจิตเวชทางไกล โดยกลไกการปฏิรูปเขตสุขภาพระหว่างกรมสุขภาพจิตและเขตสุขภาพที่ 1
เชียงใหม่-กรมสุขภาพจิต แถลงข่าวการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น การจัดบริการจิตเวชทางไกล โดยกลไกการปฏิรูปเขตสุขภาพระหว่างกรมสุขภาพจิตและเขตสุขภาพที่ 1
วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารผู้ป่วยนอกและจิตเวชฉุกเฉิน โรงพยาบาลสวนปรุง แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ประธานการแถลงข่าว สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตเยาวชนและการดูแลจิตใจนักเรียนนักศึกษา การพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น การจัดบริการจิตเวชทางไกล โดยกลไก การปฏิรูปเขตสุขภาพ ระหว่างกรมสุขภาพจิตและเขตสุขภาพที่ 1 พร้อมด้วยนายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1
แขกผู้มีเกียรติร่วมงานแถลงข่าว
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าเนื่องจาก การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีความเครียดเพิ่มขึ้น ทั้งจากการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตแบบใหม่ ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้ทำการสำรวจสุขภาพจิตประชาชนไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่าประชาชนไทยมีความเครียด ซึมเศร้า และฆ่าตัวตายค่อนข้างสูง โดยเฉพาะปัญหาฆ่าตัวตายในเด็กและวัยรุ่นที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น และเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
กรมสุขภาพจิตในฐานะกรมวิชาการที่ดูแลงานสุขภาพจิตของประเทศ มีนโยบายดูแลสุขภาพจิตประชาชนไทยทุกกลุ่มวัย และมุ่งพัฒนาระบบส่งเสริมสุขภาพจิต ป้องกัน แก้ไขและรักษา ฟื้นฟูปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช ครอบคลุมประชาชนไทยทุกช่วงอายุ และทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยบูรณาการงานสุขภาพจิตผ่านกลไกเขตสุขภาพ และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนไทยมีสุขภาพจิตที่ดี
กรมสุขภาพจิต โดยโรงพยาบาลสวนปรุง สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 ได้บูรณาการงานสุขภาพจิตทุกกลุ่มวัยผ่านกลไกเขตสุขภาพที่ 1 เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตสำหรับประชาชนในพื้นที่ล้านนา จัดบริการจิตเวชทางไกลแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และพัฒนาระบบฐานข้อมูลสุขภาพจิตของประชาชนในพื้นที่ เพื่อเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน โดยมุ่งหวังให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้อย่างครอบคลุม และเป็นปัจจุบัน อันจะช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพจิตที่ดี ป้องกันการเกิดความเจ็บป่วยด้านสุขภาพจิตต่อไป
กรมสุขภาพจิต หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิตและเขตสุขภาพที่ 1 ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตของประชาชนล้านนาในทุกมิติภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้ จะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ว่าตัวท่าน ครอบครัว และบุตรหลานของท่าน จะได้รับการดูแลด้านสุขภาพจิตเป็นอย่างดี เพื่อให้ประชาชนมีจิตใจที่แข็งแรง เป็นประชากรไทยที่มีคุณภาพต่อไป
นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 กล่าวว่า วันนี้ ผมและคณะผู้บริหารสาธารณสุข ทั้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วไป และบุคลากรสาธารณสุขในเขตสุขภาพที่ 1
ทุกท่าน มีความพร้อมในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพจิต ภายใต้การปฏิรูปเขตสุขภาพ ซึ่งเราได้กำหนดให้ประเด็นสุขภาพจิตเป็น 1 ในประเด็นสำคัญของการปฏิรูปเขตสุขภาพ
ประเด็นสุขภาพจิตเร่งด่วนที่กำหนดขึ้นในพื้นที่ ได้แก่ 1. การแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย 2.การจัดตั้งหอผู้ป่วยจิตเวช ในโรงพยาบาลจังหวัด (One Province One Unit) 3.การจัดบริการจิตเวชทางไกล แก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล (Tele-psychiatry) และ 4.การพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น
และที่เขตสุขภาพได้ดำเนินการไปแล้ว คือ
– เพิ่มการค้นหาผู้มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และจัดระบบช่วยเหลือ ส่งต่อเข้ารับการบำบัดรักษา ซึ่งช่วยให้เยาวชน และผู้มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายเข้าถึงการช่วยเหลือ และได้รับการดูแลเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
– เสริมสร้างพัฒนาการด้านอารมณ์ สังคมเด็กปฐมวัย ในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล โดยนำโปรแกรม Triple-P ที่พัฒนาโดยกรมสุขภาพจิต มาใช้ เพื่อให้ผู้ปกครองเข้ามีส่วนในการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก สร้างวินัยเชิงบวก ซึ่งจะช่วยให้เด็กเล็กได้รับการกระตุ้นพัฒนาการ ป้องกันการเกิดปัญหาพัฒนาการล่าช้า โดยดำเนินการแล้วในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน น่าน เชียงใหม่ และเชียงราย และมีแผนการดำเนินงานให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 8 จังหวัด
– นำเครื่องมือ 4D plus (Diet, Development & Play, Dental, Disease) ของกรมอนามัย มาใช้กระตุ้นพัฒนาการเด็กเล็ก เพื่อให้มีเด็กมีพัฒนาการสมวัย ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วในจังหวัดพะเยา
– และในกลุ่มเด็กวัยเรียน เขตสุขภาพได้สนับสนุนให้นำโปรแกรม “School Health HERO” ของกรมสุขภาพจิตมาใช้ เพื่อเพิ่มศักยภาพครูในโรงเรียน ในการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือด้านจิตใจเด็กในโรงเรียน และส่งต่อเด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิตเข้ารับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ที่ผ่านมา ได้พัฒนาครู บุคลากรการศึกษา จาก 1 โรงเรียน 1 จังหวัด เป็น 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในปัจจุบัน และนำโปรแกรมนี้ไปใช้ในการส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กวัยรุ่น ที่เรียนในระดับมัธยมศึกษาอีกด้วย โดยผลการดำเนินงานในปี 2564-2565 มีจำนวนโรงเรียนตั้งแต่ระดับชั้น ป.1-ม.6 เข้าร่วม 323 แห่ง มีเด็กเข้าสู่ระบบ 10,427 คน เด็กที่ควรได้รับการดูแล 1,476 คน ได้รับการช่วยเหลือให้ดีขึ้น 1,199 คน (ร้อยละ 81.2) และในปี 2566 วางแผนขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
– เขตสุขภาพที่ 1 ยังสนับสนุนให้หน่วยบริการสุขภาพในพื้นที่ จัดตั้งหน่วยบริการสุขภาพจิตและจิตเวช เพื่อและให้ประชาชนและเยาวชนในภาคเหนือเข้าถึงบริการสุขภาพจิตใกล้บ้าน ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ปัจจุบันมีคลินิกให้บริการสุขภาพจิตและจิตเวชในโรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งในพื้นที่ 8 จังหวัด มีหอผู้ป่วยจิตเวชแบบผู้ป่วยใน ในโรงพยาบาลระดับจังหวัด 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลลำปาง (A) โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ (A) โรงพยาบาลน่าน (S) โรงพยาบาลแพร่ (S) และโรงพยาบาลพะเยา (S)
– และได้จัดบริการจิตเวชทางไกล (Tele-Psychiatry) แก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ขึ้น ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกับกรมสุขภาพจิต โดยจัดให้มีบริการจิตเวชทางไกลระหว่างโรงพยาบาลสวนปรุงกับโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ และโรงพยาบาลสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และบริการจิตเวชทางไกล ระหว่างสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์กับโรงพยาบาลจุน จังหวัดพะเยา และโรงพยาบาลปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ทั้งนี้เขตสุขภาพที่ 1 ร่วมกับกรมสุขภาพจิต จะจัดโครงการสัมมนาเครือข่ายการดูแลช่วยเหลือสุขภาพจิตเด็กไทยในสถานการณ์โควิด ให้กับบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 1 และเขต 2 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกระบบสาธารณสุข เห็นความสำคัญของปัญหา ผสานความร่วมมือในการดูแลปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นในพื้นที่ โดยเขตสุขภาพที่ 1 มีความประสงค์ที่จะช่วยกันพัฒนาเยาวชนล้านนา ให้เป็นเด็กเก่ง ดี มีความสุข พร้อมก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป
พัฒนชัย/เชียงใหม่