กาฬสินธุ์ ชาวนาพบทางรอดใช้ปุ๋ยสั่งตัดประหยัดต้นทุน50เปอร์เซ็นต์
ชาวนาในอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ชี้ทางรอดทำนาปีต้องใช้ปุ๋ยสั่งตัดบำรุงต้นข้าว ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีตามทั้งตลาดที่ราคาสูง ระบุสามารถลดต้นทุนทำนาลงอีก 50% ขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น 50% วอนรัฐบาลปรับเพิ่มราคารับซื้อข้าวเปลือกและควบคุมราคาปุ๋ยเคมี เนื่องจากราคาสูงกว่าเดินเกือบเท่าตัว บางสูตรทะลุกระสอบละ 2,050 บาท ส่งผลให้บรรยากาศการทำนาเงียบเหงาไปมาก เนื่องจากชาวนาหมดกำลังใจที่จะทำนา
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงาน จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพทำนาปี ของชาวนาในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ทั้ง 18 อำเภอ หลังฝนตกลงมาต่อเนื่องและมีน้ำสำหรับทำนา โดยชาวนาที่มีความพร้อมด้านทุนการผลิต ทั้งค่าจ้างรถไถและเมล็ดพันธุ์ข้าว ต่างทยอยกันทำนากันแล้ว ขณะที่ชาวนาจำนวนมากอยู่ในอาการลังเล ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าปีนี้จะทำนาหรือไม่ เนื่องจากต้นทุนในการทำนาปีนี้สูงเกือบเท่าตัว โดยเฉพาะค่ารถไถนา พบว่าปรับราคาค่าจ้างขึ้นจากเดิมไร่ละ 500-600 บาทเป็นไร่ละ 900 บาท และราคาปุ๋ยเคมี ที่เดิมราคากระสอบละ 700-1,2000 บาท พบว่าปีนี้เริ่มต้นที่ราคากระสอบละ 1,500 บาท บางสูตรกระสอบละ 1,850 หรือบางสูตรกระสอบละ 2,050 บาท
นายกิตติชัย ภูตีกา อายุ 54 ปี กรรมการศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน เขตเทศบาลตำบลยางตลาด อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าบรรยากาศทั่วไปในช่วงเริ่มต้นฤดูกาลทำนาปีนี้ค่อนข้างเงียบเหงา โดยมีสาเหตุจาก 3 ปัจจัยหลักคือ ราคาขายข้าวเปลือกที่ตกต่ำเพียง ก.ก.ละ 6-8 บาท ราคาปุ๋ยเคมีที่แพงขึ้น รวมทั้งค่าจ้างรถไถปรับตัวสูงขึ้นมาก ทั้งนี้ จากการสอบถามผู้ประกอบการจำหน่าย อ้างว่าเป็นผลสืบเนื่องจากราคาน้ำมันแพงและค่าขนส่งสูงขึ้น ทำให้ชาวนาส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้นทุนการทำนาสูงขึ้น ขณะที่ราคาขายข้าวเปลือกยังตกต่ำ จึงประสบปัญหาขาดทุนซ้ำซาก ต่อเนื่องตลอดปีทั้งการขายผลผลิตข้าวเปลือกนาปีและข้าวเปลือกนาปรัง
นายกิตติชัยกล่าวอีกว่า ในส่วนของชาวนาที่เป็นสมาชิกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน เขตเทศบาลตำบลยางตลาด ประมาณ 50 ครอบครัว ซึ่งใช้ปุ๋ยสั่งตัดสำหรับบำรุงต้นข้าวนั้น ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากราคาขายข้าวเปลือกตกต่ำบ้าง แต่ก็พอจะมีกำไรจากการขายข้าว เนื่องจากสมาชิกกลุ่มเราใช้ต้นทุนการทำนาที่ต่ำกว่าชาวนาทั่วไปถึง 50% และโดยเฉพาะคุณภาพของปุ๋ยสั่งตัด ที่เราได้จากการการวิเคราะห์ค่าดิน ยังเพิ่มผลผลิตได้มากกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีถึง 50% อีกด้วย
“การใช้ปุ๋ยสั่งตัดบำรุงต้นข้าวดังกล่าว กลุ่มเราดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 เริ่มจากเข้าร่วมโครงการพระดาบสสัญจร และดำเนินการตามผลงานวิจัยของศาสตราจารย์ ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ นักวิจัยเจ้าของผลงานปุ๋ยสั่งตัด มาคิดสูตรปรุงปุ๋ย โดยเป็นการใช้ปุ๋ยเคมีแบบสั่งตัด คือการใช้ปุ๋ยเคมีตามชุดดินและค่าวิเคราะห์ดิน จึงเป็นที่มาของชื่อ “ปุ๋ยสั่งตัด” ทั้งนี้ เป็นการสั่งทำปุ๋ยตามความต้องการของดิน เพราะสภาพดินแต่ละแปลงหรือของชาวนาแต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงต้องการปุ๋ยบำรุงคุณภาพดินต่างกัน” นายกิตติชัยกล่าว
นายกิตติชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อดีจากการใช้ปุ๋ยสั่งตัดดังกล่าว ทำให้ลดทุนและลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงครึ่งต่อครึ่ง เช่น จากเดิมใช้ปุ๋ยเคมีไร่ละ 100 ก.ก. ก็ใช้ปุ๋ยสั่งตัดที่ราคาถูกกว่าเพียงไร่ละ 50 ก.ก. นอกจากนี้ยังได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวอีกด้วย เฉลี่ยจากเดิมไร่ละ 300-400 กก. ปัจจุบันได้ไร่ละ 700-800 กก.ทีเดียว ดังนั้น การใช้ปุ๋ยสั่งตัดในนาข้าว จึงเป็นการตอบโจทย์และเป็นทางรอดของชาวนาในยุคน้ำมันแพง และราคาปุ๋ยแพงได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ก็อยากวิงวอนไปถึงรัฐบาล ให้เพิ่มราคารับซื้อข้าวเปลือกสูงขึ้น และควบคุมราคาปุ๋ยเคมีให้ถูกลง เนื่องจากราคารับซื้อข้าวเปลือกยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ขณะที่ราคาปุ๋ยเคมีสูงกว่าเดิมเกือบเท่าตัว บางสูตรราคากระสอบละ 1,500 บาท บางสูตรกระสอบละ 1,850 หรือบางสูตรกระสอบละ 2,050 บาท ส่งผลให้บรรยากาศการทำนาเงียบเหงาไปมาก เนื่องจากชาวนาไม่มีทุนทำนา และหมดกำลังใจที่จะทำนาดังกล่าว” นายกิตติชัยกล่าวในที่สุด