22/11/2024

นายกประยุทธ์ฯ หนุน ปลูกไม้มีค่า ใช้เป็นหลักประกันกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ และช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มรายได้

นายกประยุทธ์ฯ หนุน ปลูกไม้มีค่า ใช้เป็นหลักประกันกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ และช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มรายได้

นายกรัฐมนตรี ชวนคนไทยร่วมปลูกไม้มีค่า เพื่อใช้เป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน อีกทั้งช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเชิญชวนปลูกป่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี ค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ปี ค.ศ. 2065 มอบหมายกรมป่าไม้แจกกล้าไม้เต็มอัตรา พร้อมย้ำรับได้เลยที่ศูนย์เพาะชำกล้าไม้ใกล้บ้าน

ตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ควบคู่กับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการผลักดันให้มีทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ให้เป็นไปตามเป้าหมายนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี พ.ศ. 2580 อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงแสดงเจตนารมณ์ของประเทศไทย ต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) ที่จะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และทุกวิถีทาง ที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Greenhouse Gas Emission ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการสนองตามนโยบายดังกล่าว รณรงค์ส่งเสริมปลูกต้นไม้ยืนต้นมูลค่าสูงในที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง เพิ่มป่า เพิ่มรายได้ กรมป่าไม้ได้จัดทำเมนูส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า จำนวน 5 โครงการ โดยยืนยันว่าไม้ที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ไม่เป็นไม้หวงห้าม ตัดแปรรูป ขายได้ พร้อมจัดบริการพิเศษ ออกแนวทางในการสำแดง และออกหนังสือรับรองไม้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนไว้แล้ว

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สนับสนุนให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการเร่งรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ช่วยป้องกันและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ลดมลภาวะเป็นพิษจากฝุ่นและหมอกควัน อีกทั้งเพื่อเป็นการออมและสร้างรายได้ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ด้วยสามารถนำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักค้ำประกันกับสถาบันการเงินได้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศกฎกระทรวงตามมาตรา 8(6) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 และสอดรับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดให้มีพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศ

รมว.ทส. กล่าวต่อไปว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้กรมป่าไม้ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการส่งเสริมการปลูกต้นไม้เศรษฐกิจ ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กรมป่าไม้มีโครงการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ จำนวน 5 โครงการ ที่พร้อมให้ผู้สนใจได้เลือกเข้าร่วม เพื่อให้ตรงตามความต้องการ ประกอบด้วย หนึ่ง โครงการส่งเสริมไม้โตเร็วเพื่ออุตสาหกรรม สนับสนุนเงินอุดหนุน 3,000 บาทต่อไร่ โดยแบ่งจ่ายภายใน 3 ปี แบ่งเป็นปีที่ 1 : 1,500 บาท ปีที่ 2 : 800 บาท ปีที่ 3 : 700 บาท พร้อมสนับสนุนกล้าไม้ 300 ต้นต่อไร่ พื้นที่ 1 – 30 ไร่ ตามบัญชีชนิดไม้ 13 ชนิด เช่น ไม้ยูคาลิปตัส ไผ่ทุกชนิด สอง โครงการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจในพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้น 3 ,4 และ 5 ก่อนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 (คทช.) สนับสนุนเงินอุดหนุน 3,000 บาทต่อไร่ โดยแบ่งจ่ายภายใน 3 ปี แบ่งเป็นปีที่ 1 : 1,500 บาท ปีที่ 2 : 800 บาท ปีที่ 3 : 700 บาท และสนับสนุนกล้าไม้ 225 ต้นต่อไร่ ตามบัญชีชนิดไม้ 51 ชนิด สาม โครงการสนับสนุนการปลูกไม้เศรษฐกิจ สนับสนุนเงินอุดหนุน 1,000 บาทต่อไร่ เมื่อมีการปลูกต้นไม้ครบตามจำนวน ไม่น้อยกว่า 100 ต้นต่อไร่ พื้นที่ 1 – 30 ไร่ ตามบัญชีชนิดไม้ 38 ชนิด เช่น สัก ประดู่ป่า สี่ โครงการส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็วเพื่อพลังงานทดแทน สนับสนุนกล้าไม้ 800 ต้นต่อไร่ พื้นที่ 1 – 30 ไร่ ตามบัญชีชนิดไม้ 6 ชนิด เช่น ไม้ยูคาลิปตัส กระถินยักษ์ และ ห้า โครงการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจในพื้นที่ยางพาราและพื้นที่เกษตรกรรมสนับสนุนกล้าไม้ 50 ต้นต่อไร่ พื้นที่ 1 – 30 ไร่ เช่น สัก ประดู่ป่า ตะเคียนทอง

ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินไม่เป็นไม้หวงห้าม ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2562 รวมถึงไม้ที่ปลูกขึ้นตามโครงการที่กรมป่าไม้ส่งเสริม เมื่อไม้โตนำมาใช้ประโยชน์ได้แล้วสามารถตัดฟัน แปรรูปนำเคลื่อนย้ายไปใช้ประโยชน์ได้ สำหรับไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสามารถใช้เป็นหลักค้ำประกันกับสถาบันการเงินได้ เช่น ไม้สัก พะยูง ชิงชัน กระซิก กระพี้เขาควาย สาธร แดง ประดู่ป่า ประดู่บ้าน มะค่าโมง มะค่าแต้ เคี่ยม เคี่ยมคะนอง เต็ง รัง พะยอม ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ตะเคียนชันตาแมว ไม้สกุลยาง (ไม่รวมยางพารา) สะเดา สะเดาเทียม ตะกู ยมหิน ยมหอม นางพญาเสือโคร่ง นนทรี สัตบรรณ ตีนเป็ดทะเล พฤกษ์ ปีบ ตะแบกนา เสลา อินทนิลน้ำ ตะแบกเลือด นากบุด ไม้สกุลจำปี (จำปีสิรินธร จำปีป่า จำปีถิ่นไทย จำปีดง จำปีแขก จำปีเพชร ) แคนา กัลปพฤกษ์ ราชพฤกษ์ สุพรรณิการ์ เหลืองปรีดียาธร มะหาด มะขามป้อม หว้า จามจุรี พลับพลา กันเกรา กะทังใบใหญ่ หลุมพอ กฤษณา ไม้หอม เทพทาโร ฝาง ไผ่ทุกชนิด ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียน และมะขาม ทั้งนี้ ผู้สนใจที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ส่วนส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ สำนักเศรษฐกิจการป่าไม้ กรมป่าไม้ โทร. 0-2561-4292 ต่อ 5553

นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน กรมป่าไม้ได้ออกแนวทางการสำแดงความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ด้วยตนเอง หรือสามารถขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบออกหนังสือรับรองไม้เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการนำไม้ไปใช้ประโยชน์ และแสดงความเป็นเจ้าของไม้ได้ ตามมาตรา 18/1 และสามารถส่งออกไปนอกราชอาณาจักรได้ตามมาตรา 18/2 ยกเว้นไม้พะยูง ยังห้ามส่งออก ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 โดยสามารถยื่นคำขอได้ที่ ศูนย์ป่าไม้ท้องที่และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ท้องที่ โดยใช้เอกสารที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองประกอบเป็นหลักฐานในการยื่นขอ

++++++++++++++++++++++++++

ข่าวที่น่าติดตาม