22/11/2024

กาฬสินธุ์ หมอเตือนโรคยอดฮิตช่วงหน้าฝนไข้เลือดออก-ฉี่หนู

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์เตือนเฝ้าระวังโรคยอดฮิตในช่วงฤดูฝนไข้เลือดออก-โรคฉี่หนู พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอสม.ช่วยกันรณรงค์เน้นมาตรการป้องกันไข้เลือดออก 5 ป 1 ข และ 1 ท แนะเกษตรกรสวมรองเท้าบูทลงแช่น้ำหากพบไข้สูงเฉียบพลัน และหนาวสั่นควรมาพบแพทย์ทันที


เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 นายแพทย์อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝน โรคที่มักจะพบบ่อยและต้องเฝ้าระวังในช่วงนี้นอกจากโรคโควิด-19 แล้ว ยังมีโรคติดต่ออีกหลายโรคที่จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก โรคซิก้า และโรคซิกุลคุนย่า ซึ่งทั้ง 3 โรคนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน มียุ่งลายเป็นพาหนะนำโรค ทั้งนี้จากการติดตามสถานการณ์ในปีนี้พบว่า มีผู้ป่วยลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ 4 เดือนแรกของปี ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2565 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพียงหลักหน่วยเท่านั้น สาเหตุหลักเนื่องจากมีการประสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านการป้องกันกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประชาชนเองมีความตะหนักถึงความอันตรายของโรค หน่วยงานในท้องถิ่นก็ช่วยกันป้องกัน ประกอบกับในช่วง 2-3 ปีที่ที่ผ่านมามีโรคโรควิด-19 แพร่ระบาดประชาชนดูแลเอาใจใส่ป้องกันสุขภาพของตนเองมากขึ้นทำให้มีผู้ป่วยไข้เลือดออกลดลง อย่างไรก็ตามจากการติดตามยอดผู้ป่วยจะมาเพิ่มขึ้นในช่วงหน้าฝนเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 จนถึงปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 25 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนโรคซิก้า และโรคซิกุลคุนย่ายังไม่พบ


นายแพทย์อภิชัย กล่าวต่อว่า นอกจากทั้ง 3 โรคที่จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษแล้ว ยังมีโรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู และโรคระบบทางเดินหายใจที่ประชาชนต้องระมัดระวังในช่วงนี้ โดยเฉพาะประชาชนที่มีอาชีพสัมผัสกับน้ำท่วมขัง หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน เช่น เกษตรกรที่กำลังทำนาปี กลุ่มอาชีพประมง อาชีพขุดลอกคลอง และท่อระบายน้ำเป็นต้น จะต้องป้องกันตนเอง หากต้องแช่น้ำเป็นเวลานานจะต้องสวมรองเท้าบูท และล้างทำความสะอาดเท้าทันที หากมีแผลที่เท้าไม่ควรแช่น้ำ ซึ่งจากข้อมูลในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรซิสแล้ว 3 ราย
นายแพทย์อภิชัย กล่าวอีกว่า แม้สถานการณ์โรคในช่วงนี้จะยังไม่พบผู้ป่วยจำนวนมากและยังไม่น่าห่วง ประชาชนก็ควรที่จะดูแลสุขภาพของตนเองอย่างใกล้ชิด ซึ่งทางสำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์

ก็ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้ง 18 อำเภอ และ อสม.ที่มีอยู่กว่า 6 หมื่นคน ลงพื้นที่ให้ความรู้และช่วยกันรณรงค์กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการป้องกันไข้เลือดออก เน้น 5 ป 1 ข และ 1 ท คือปิดฝาภาชนะใส่น้ำป้องกันยุงลายวางไข่ เปลี่ยนเปลี่ยนถ่ายน้ำทำลายลูกน้ำทุก 7 วัน ปล่อยปลาหรือแมลงที่กินลูกน้ำ ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ขัดไข่ยุงตามภาชนะใส่น้ำทุกครั้งที่เปลี่ยนน้ำ และทายากันยุง อย่างไรก็ตามหากประชาชนมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องร่วง ที่สำคัญหากมีเม็ดเลือดสีแดงขึ้นตามลำตัว แขน ขา เลือดกำเดาไหล อุจจาระดำ และเลือดออกตามไรฟัน ให้รีบเข้ามารักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที อย่าไปซื้อยากินเองอย่างเด็ดขาด เพราะหากปล่อยไว้อาจจะเกิดอาการช็อก หมดสติและเสี่ยงเสียชีวิตได้ ส่วนโรคโรคเลปโตสไปโรซิส หากมีไข้สูง หนาวสั่น และสงสัยในอาการของโรคจะต้องรีบมาพบแพทย์ทันทีเช่นกัน

ข่าวที่น่าติดตาม