23/11/2024

เชียงใหม่- มทร.ล้านนา ลงนามความร่วมมือ ด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิชาการและเทคโนโลยี

มทร.ล้านนา ลงนามความร่วมมือ บริษัทกรีนเทค โอโซน โซลูชั่น สตาร์ทอัพ BCG Boost up จาก สวทช. พัฒนานวัตกรรมซักอบรีดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้บริการเช่าผ้าแบบ pay per use ตอบโจทย์ธุรกิจโรงแรมเชียงใหม่ กว่า 1,500 ห้องต่อวัน

วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.30น. ที่โรงแรมอีสทีน เชียงใหม่ ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา ร่วมกับ นายภิญโญ สุขทัต กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีนเทค โอโซน โซลูชั่น จำกัด ได้ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใต้ BCG Model(Bio-Circular-Green Economy) โดยมี นายชัยยศ จินดารัตนะ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชียงใหม่ ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายภิญโญ สุขทัต กรรมการผู้จัดการ บริษัทกรีนเทค โอโซน โซลูชั่นจำกัด เปิดเผยว่า บริษัท กรีนเทค โอโซน โซลูชั่น จำกัด เริ่มก่อตั้งปี 2558 เป็นธุรกิจให้บริการซักอบรีดให้กับภาคธุรกิจโรงแรม ปัจจุบันได้เพิ่มการให้บริการเช่าผ้าจ่ายแบบ PAY PER USE เพื่อลดภาระให้กับผู้ประกอบการโรงแรม ด้วยทีมวิจัยและพัฒนาที่มี ประกอบกับการสนับสนุนและผลักดันธุรกิจ Start up จากภาครัฐผ่านหน่วยงาน อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และการบรรลุข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิชาการและเทคโนโลยีภายใต้ BCG Model ทำให้บริษัทฯมีนวัตกรรมเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจ เช่น ระบบการซักผ้าด้วยเทคโนโลยีโอโซนไม่ใช้สารเคมีและประหยัดพลังงาน, นวัตกรรมติดตามผ้า(Smart Linen) และบริหารสต็อค, ระบบบำบัดและรีไซเคิลน้ำ, รวมทั้งเทคโนโลยี IOT โดยมุ่งเน้นให้ลูกค้าและสังคมยอมรับและเลือกใช้บริการ เพื่อนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

กิจกรรมนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นการเสริมทัพให้กับบริษัท กรีนเทค โอโซน โซลูชั่น จำกัดเพื่อยกระดับขึ้นไปอีกขั้นนึง การนำองค์ความรู้ต่างๆ ไปต่อยอดเพื่อให้ประชาชนทั่วไป ได้รับสินค้าและการบริการที่เหนือมาตรฐานขึ้นมา ซึ่งถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญของบริษัทเรา เช่นกันในมุมมองของมหาวิทยาลัยฯ ก็จะได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นกองทุน หรืองานวิจัย เพื่อให้สอดคล้องกับ Customer need หรือสิ่งที่ประชาชนต้องการ การคาดหวังกิจกรรมในครั้งนี้จะนำเราก้าวไปข้างหน้าอีกขั้นหนึ่ง

ด้านผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา กล่าวถึง ความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ว่า “โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ดีของมหาวิทยาลัยอีกหนึ่งโครงการ ที่เป็นการร่วมมือกันกับบริษัท กรีนเทค โอโซน โซลูชั่น จำกัด ในการที่จะนำนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยฯ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้าน BCG เอาไปต่อยอดในเชิงธุรกิจ การร่วมมือในครั้งนี้จะสร้างองค์ความรู้ การบริการทางวิชาการ การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย สร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ให้กับชุมชน สังคม การร่วมมือกันระหว่างบริษัท กรีนเทค โอโซน โซลูชั่น จำกัด และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จึงถือเป็นการนำเอาเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมให้เกิดการนำไปใช้อย่างกว้างขวางในประเทศไทย และเชื่อว่าถ้าเราพัฒนาได้จะสามารถนำมาใช้ในภาคพื้นเอเชียได้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจที่ทางบริษัทได้จับมือกับทางมหาวิทยาลัย จัดสร้างโครงการนี้ขึ้นมา”

สำหรับความร่วมมือในโครงการนี้ จะมีทั้งการพัฒนากำลังคน นั่นคือนักศึกษาที่จะได้ไปเรียนรู้การปฏิบัติงาน ทั้งทางด้านวิศวกรรม และด้านธุรกิจกับบริษัท กรีนเทค โอโซน โซลูชั่น จำกัด ในขณะเดียวกันทางบริษัทฯเอง ก็จะได้มาฝึกอบรมในด้านวิชาการกับทางมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งเราได้จัดหลักสูตรการฝึกอบรมต่างๆ กระบวนการสร้างนวัตกรรม เป็นต้น และอีกส่วนหนึ่งคือ องค์ความรู้ที่เป็นแนวปฏิบัติในด้านการออกแบบ การติดตั้ง และซ่อมบำรุง ซึ่งจะทำอย่างไรให้เป็น Knowhow ร่วมกันของมหาวิทยาลัยฯ และบริษัทฯ รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและการวิจัยใหม่ๆ ซึ่งมองว่าจะเกิดขึ้นกับทาง Eco-Tech และมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเกิดจากการร่วมมือกันในการทำ MOU ครั้งนี้ ซึ่งหลังจากนี้ก็จะมีการทำแผนการดำเนินการรวมไปถึงการจัดกิจกรรมในอีกหลายๆ กิจกรรม

โครงการความร่วมมือนี้จะเน้นในภารกิจ 3 ส่วน ได้แก่ การสอน การฝึกอบรม และการวิจัยงานบริการด้าน BCG โดยเน้นเรื่องการวิจัยพลังงานสะอาด รวมไปถึงพลังงานทดแทนประเภทอื่นๆ อาทิ พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานทดแทนจากกังหันลม เทคโนโลยีชีวมวล และเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้แก่ แบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้า การบำบัดน้ำเสีย การดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ที่สำคัญได้นำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ในชุมชน ด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้งานที่เกี่ยวข้องกับ BCG  ทางมหาวิทยาลัยฯ มีหน่วยวิจัยระบบพลังงานสะอาด เป็นหน่วยที่พัฒนากำลังคนและองค์ความรู้ทางด้าน BCG model แต่ด้วยยังเป็นเพียงภาควิชาการหรือภาคทฤษฎี ดังนั้นภารกิจสองส่วนในภาคเอกชนและภาควิชาการได้มาจับมือร่วมกัน จะทำให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดมาจากแนวคิดของคนไทย เกิดจากสถาบันการศึกษาร่วมกับหน่วยงานเอกชน ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์ในด้านการลดต้นทุนในการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และเป็น Knowhow ของคนไทยนั่นเอง

 

นภาพร/เชียงใหม่

ข่าวที่น่าติดตาม