23/11/2024

กาฬสินธุ์ กรมเจ้าท่าขุดลอกลำน้ำปาวแก้ปัญหาตื้นเขินระบายในฤดูน้ำหลาก

กาฬสินธุ์ กรมเจ้าท่าขุดลอกลำน้ำปาวแก้ปัญหาตื้นเขินระบายในฤดูน้ำหลาก

ที่บริเวณลำน้ำปาวเขตรอยต่อบ้านวังยูง ต.ลำพานกับบ้านบึงวิชัย ต.บึงวิชัย อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสมพงษ์ จิรศิริเลิศ รองอธิบดีกรมเจ้าท่าด้านปฏิบัติการ พร้อมเจ้าหน้าที่เข้าตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินการขุดลอกลำน้ำปาว พื้นที่ ต.ลำพาน อ.เมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งกำลังดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 8 กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เพื่อแก้ไขปัญหาร่องน้ำตื้นเขิน ระบายน้ำในฤดูน้ำหลาก และเพื่อกักเก็บน้ำในฤดูแล้ง โดยมี ด.ต.สมคิด นันทสมบูรณ์ นายกเทศมนตรีตำบลลำพาน นายเสาร์ ฤทธิ์รุ่ง นายกเทศมนตรีตำบลบึงวิชัย พร้อมด้วยผู้นำหมู่บ้านและประชาชนให้การต้อนรับ


นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ดังกล่าวที่ผ่านมาประสบปัญหาลำน้ำตื้นเขิน จากตะกอนดินทับถม และวัชพืชกีดขวางทางน้ำ เนื่องจากไม่ได้รับการพัฒนาหรือขุดลอกมาเป็นระยะเวลานานกว่า 100 ปีแล้ว ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จึงร้องขอความช่วยเหลือ ดังนั้นกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ภายใต้การนำและความห่วงใยของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการคมนาคม ที่เน้นย้ำเสมอว่าอยากให้พี่น้องประชาชนได้รับแต่สิ่งที่ดีๆ จะได้เร่งดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ แก้ไขปัญหาร่องน้ำตื้นเขิน ระบายน้ำในฤดูน้ำหลาก และเพื่อกักเก็บน้ำในฤดูแล้ง เบื้องต้นดำเนินการเป็นระยะทางกว่า 2 กม.และต่อไปทางกรมเจ้าท่าจะทำการสำรวจลำน้ำปาวทั้งสายระยะทางกว่า 54 กม.และจะหารือร่วมกับทางจังหวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาระยาวต่อไป


ด้านนายสมพงษ์ จิรศิริเลิศ รองอธิบดีกรมเจ้าท่าด้านปฏิบัติการ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจที่ผ่านมาพบว่าพื้นที่ลำน้ำปาวบริเวณดังกล่าว ปัจจุบันมีลักษณะตื้นเขิน น้ำเหลือน้อย ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งทางกรมเจ้าท่าจึงได้เร่งดำเนินการ สำหรับโครงการขุดลอกลำน้ำปาวครั้งนี้ความยาวของร่องน้ำที่ดำเนินการ 1,800 เมตร ความกว้างของร่องน้ำ 10-20 เมตร ปริมาณดิน 74,600 ลูกบาศก์เมตร ระยะเวลาดำเนินงาน 90 วัน งบประมาณ 1,913,500 บาท ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถแก้ไขปัญหาร่องน้ำตื้นเขิน ระบายน้ำในฤดูน้ำหลาก และกักเก็บน้ำในฤดูแล้งได้ในระดับหนึ่ง

ข่าวที่น่าติดตาม