นราธิวาส-ม.นราธิวาสฯ ลงนาม MOU กับ อปท.59 ตำบลในพื้นที่ จ.นราธิวาสขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG
นราธิวาส-ม.นราธิวาสฯ ลงนาม MOU กับ อปท.59 ตำบลในพื้นที่ จ.นราธิวาสขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG
นาย สนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานเปิดโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) ชุดโครงการเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับตำบล 59 ตำบล 13 อำเภอ ของจังหวัดนราธิวาส ที่ห้องประชุม ดร.จงรัก พลาศัย ชั้น 3 สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.) อำเภอเมืองนราธิวาส ซึ่งมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จงรัก พลาศัย นายกสภามหาวิทยาลัยฯ กล่าวต้อนรับ
รองศาสตราจารย์ ดร.รสสุคนธ์ แสงมณี อธิการบดี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ในวันนี้ มนร. ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวม 59 ตำบลครอบคลุม 13 อำเภอ ในพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU ภายใต้โครงการดังกล่าว ตามที่รัฐบาล โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีแผนงานในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มุ่งเน้นการรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
ทาง มนร. จึงได้บูรณาการการดำเนินงานภายใต้โครงการฯ ระยะเวลา 1 กรกฎาคม-30 กันยายน 2565 รวม 3 เดือน โดย มนร. ได้นำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปขับเคลื่อนทั้งในภาคการผลิตและบริหารให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การเกิดธุรกิจใหม่ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ การเติบโตในการลงทุน การเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ อีกทั้งการเพิ่มและรักษาระดับการจ้างงานบัณฑิตที่จบใหม่ และประชาชน โดยมีการจ้างงานขณะนี้ 560 อัตรา ทั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลอย่างแท้จริง
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ พลาศัย รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรม ม.นร กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นการ Kick Off การขับเคลื่อนโครงการฯ ปีที่ 2 จากเดิมนำร่อง 15 ตำบล เป็น 59 ตำบล เพื่อพัฒนากำลังคนให้มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงานในปัจจุบันและทักษะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG ในเรื่องแผนพัฒนาธุรกิจ แผนพัฒนาสินค้า และแผนการนำสินค้าสู่ตลาด ตลอดจนพัฒนาฐานข้อมูล Thailand Community Big Data ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ ภายใต้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG Model
B : Bioeconomy เศรษฐกิจชีวภาพ เกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าการเกษตร ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการใช้ทรัพยากรชีวภาพที่สามารถปลูกทดแทนหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ พัฒนาพลังงานชีวภาพทดแทนการใช้พลังงานฟอสซิล C : Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยวางแผนการใช้ทรัพยากรในระบบการผลิตให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานให้มากขึ้น ส่งเสริมการใช้น้ำ ลดการเกิดของเสียG : Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว ใช้พลังงงานทดแทน/พลังงานทางเลือก ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
โดยโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มการจ้างงานให้กับบัณฑิตที่จบใหม่และประชาชนในพื้นที่ได้มีงานทำ เพื่อพัฒนากำลังให้มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงานในปัจจุบันและทักษะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG สู่แผนการพัฒนาธุรกิจ แผนพัฒนาสินค้า และแผนการนำสินค้าออกสู่ตลาดได้ รวมไปถึงการพัฒนาฐานข้อมูล Thailand Community Big Data ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ
ข่าว.แวดาโอ๊ะ หะไร นราธิวาส