กาฬสินธุ์ เดินหน้าจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชุมชน
สำนักงานยุติธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับส่วนราชการสังกัดกระทรวงยุติธรรม และภาคประชาชน เดินหน้าจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน เพื่อให้คำปรึกษาด้านคดีความ ลดความเหลื่อมล้ำ อำนวยความสะดวกและแก้ปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบ เดิมจัดตั้งแล้ว 6 แห่ง ล่าสุดกำหนดดำเนินการจัดตั้งเร็วๆนี้อีก 3 แห่ง ที่อำเภอเมืองกาฬสินธุ์, อำเภอกุฉินารายณ์ และอำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์
ที่ห้องประชุมผาเสวย ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ ชั้น 2 นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมระดับจังหวัด (กพยจ.) ครั้งที่ 3/2565 และประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา โดยมีนายประหยัด ไม้แพ ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติ จ.กาฬสินธุ์ นายชุติเดช เสน่ห์วงค์ พนักงานคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สำนักงานยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการ กพยจ. และคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมระดับจังหวัด (กพยจ.) ครั้งนี้ นอกจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจภูธรจังหวัด เรือนจำจังหวัด สำนักงานบังคับคดีจังหวัด สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จะได้รายงานผลการดำเนินงานในรอบไตรมาสที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของการแก้ไขปัญหาเรื่องสืบเนื่องจากไตรมาสก่อน รวมทั้งผลการจัดกิจกรรมและดำเนินโครงการอื่นๆ เช่น โครงการไกล่เกลี่ยบูรณาการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โครงการยุติธรรมเชิงรุก สร้างสุขให้ประชาชน, การรายงานคุมขังผู้ต้องขังและกักขังในเรือนจำ, รายงานการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน, รายงานการบังคับยึดทรัพย์และอื่นๆแล้ว ยังได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ของกองทุนยุติธรรม ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ และข้อมูลไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของยุติธรรมจังหวัดและยุติธรรมชุมชนด้วย
นายศุภศิษย์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมระดับจังหวัด (กพยจ.) และคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ ที่ผ่านมา ถือว่ามีผลการดำเนินงานที่ดี สามารถช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในส่วนของการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน หรือเรียกง่ายๆว่าศูนย์ดำรงธรรมชุมชนนั้น ชาวบ้านได้ประโยชน์เต็มๆ โดยจะลดขั้นตอน ลดความเหลื่อมล้ำ อำนวยความสะดวก แก้ไขปัญหาข้อพิพาทและค่าใช้จ่าย ชาวบ้านที่เป็นคู่กรณีกันไม่ต้องขึ้นโรงพัก ไม่ต้องขึ้นศาล และที่สำคัญลดความขัดแย้งของคนในชุมชน เป็นหนทางของการเสริมสร้างความสุขความปรองดองในชุมชนเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ทางจังหวัดโดยนายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ พร้อมให้การสนับสนุนส่งเสริมใสนการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนอย่างเต็มที่
“ที่ผ่านมา ในปี 2564 ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ 4 แห่ง คือที่ ต.โพนงาม อ.กมลาไสย, ต.นามน อ.นามน, ต.อุ่มเม่า อ.ยางตลาด และ ต.ห้วยเม็ก อ.ห้วยเม็ก ขณะที่ในปี 2565 จัดตั้งแล้ว 2 แห่ง คือที่ ต.คำบง อ.ห้วยผึ้ง และ ต.ภูสิงห์ อ.สหัสขันธ์ ล่าสุดกำหนดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนเพิ่มอีก 3 แห่ง คือวันที่ 23 ส.ค.65 ที่ ต.หนองแวง อ.สมเด็จ, วันที่ 26 ส.ค.65 ที่สภาทนายความ อ.เมืองกาฬสินธุ์ และวันที่ 1 ก.ย.65 ที่ ต.หนองห้าง อ.กุฉินารายณ์” นายศุภศิษย์กล่าว
ด้านนายชุติเดช เสน่ห์วงค์ พนักงานคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่าศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน จะมีผู้นำทางศาสนาหรือบุคคลที่คนในชุมชนให้ความเคารพเชื่อถือเป็นประธานศูนย์ มีผู้นำชุมชนหรือบุคคลที่ชุมชนเลือกสรรเข้ามาเป็นคณะกรรมการ โดยจะมีหัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ กระบวนการยุติธรรมระดับจังหวัดและระดับอำเภอเป็นที่ปรึกษา มีการจดทะเบียนจัดตั้งถูกต้องตามกฎหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกด้านคดีความให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมาบางคนอาจเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม จึงถูกเอารัดเอาเปรียบ ทำให้เสียทรัพย์ เสียเวลา ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่จัดตั้งขึ้น จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไปที่มีข้อขัดแย้ง หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคู่กรณี ทั้งอุบัติเหตุทางจราจร เรื่องที่ดิน เรื่องมรดก ทั้งทางแพ่ง และทางอาญา ซึ่งไม่ต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ หรือว่าจ้างทนายความ ทางศูนย์จะให้คำปรึกษา หาทางออกที่ดี โดยให้ความคุ้มครองทางสิทธิ เสรีภาพ และไม่เสียค่าใช่จ่ายใดๆ
“ทั้งนี้ เมื่อคู่กรณีมารับบริการที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยและสามารถตกลงยอมความกันได้ ก็จะทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ส่งข้อมูลเข้าระบบกระบวนการยุติธรรมทุกสาขา ถือเป็นการยุติข้อร้องเรียนหรือความขัดแย้งกรณีนั้น และจะไม่สามารถฟ้องร้องกันอีก ดังนั้นศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนที่จัดตั้งขึ้น จึงเป็นทั้งศูนย์สร้างความปรองดองและศูนย์อำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนในเชิงรุกถึงหมู่บ้าน ประโยชน์ที่ชุมชนในพื้นที่จะได้รับจากการเข้ามาไกล่เกลี่ยที่ศูนย์ฯ คือนอกจากจะใกล้บ้านแล้ว ยังเป็นการลดขั้นตอนกระบวนการสืบสวนสอบสวน ไม่ต้องจ้างทนายความ โดยเฉพาะเป็นการให้คำปรึกษาและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยฟรี ไม่เสียค่าบริการแต่อย่างใด” นายชุติเดชกล่าว