กองทัพเรือจัดงานวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครบรอบ 169 ปี
กองทัพเรือจัดงานวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครบรอบ 169 ปี
วันนี้ (20 กันยายน 2565) เวลา 10.00 น. พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในการจัดงานวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครบรอบ 169 ปี ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ป้อมพระจุลจอมเกล้า ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ โดยภายในงานได้มีพิธีบวงสรวงและถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิธียิงปืนเสือหมอบ และพิธีสงฆ์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่อย่างล้นเหลือของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ซึ่งมีความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน” พระองค์เสด็จสวรรคต เมื่อที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 สิริพระชนมายุ 58 พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติ 42 ปี
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น กองทัพเรือจึงได้จัดงานเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครบรอบ 169 ปี เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อประเทศไทย พระองค์ทรงประกาศเลิกทาสโดยไม่สูญเสียเลือดเนื้อของประชาชน ทรงปฏิรูประเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ทรงโปรดให้สร้างถนน สะพานและทางรถไฟ ทรงริเริ่มกิจการไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ ไฟฟ้า การประปา การสุขาภิบาล อีกทั้งยังทรงระงับข้อพิพาท
กับต่างประเทศ ทำให้ประเทศชาติรอดพ้นภัยมาได้ในปี พ.ศ.2422 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชปรารภว่า ป้อมคูประตูหอรบที่เมืองสมุทรปราการ ซึ่งเคยทำหน้าที่ป้องกันอริราชศัตรูและเคยเป็นสง่าสำหรับพระนครมาแต่ก่อนนั้นล้วนแต่ชำรุดทรุดโทรมและรกร้าง ไม่มีทหารอยู่ประจำรักษาการมาช้านานแล้ว สมควรจะซ่อมแซมก็ยังไม่ลุล่วง เนื่องจากเงินรายได้ของแผ่นดินมีจำกัด ในช่วงเวลานั้น ฝรั่งเศสกำลังหาเมืองขึ้นในเอเชียอาคเนย์อยู่ ภายหลังที่ฝรั่งเศสยึดญวนเขมร และลาวได้แล้ว ฝรั่งเศสก็คิดจะยึดพื้นที่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (พระตะบอง เสียมราฐศรีโสภณ) อันเป็นของไทยมาตั้งแต่เดิม ในขณะที่มีเหตุการณ์อันอันไม่น่าไว้วางใจเกิดขึ้นเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จ ฯ โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีไปทอดพระเนตรภูมิฐาน ตลอดจนทดลองยิงปืนที่ป้อมแหลมฟ้าผ่า จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ร.ศ.112 ทรงพระราชดำริว่าป้อมนี้อยู่ในทำเลที่ตั้งมั่นคง สามารถใช้ป้องกันประเทศได้แห่งหนึ่ง ครั้งนั้นได้มีพระราชหัตถเลขาซึ่งสะท้อนแนวพระราชดำริไว้ว่า “ฉันรู้ตัวชัดอยู่ว่า ถ้าความเปนเอกราชของกรุงสยามได้สิ้นสุดไปเมื่อใด ชีวิตรฉันก็คงสิ้นสุดไปเมื่อนั้น มิได้อยู่ปกครองทรัพย์สมบัตินี้เลย ซึ่งจะทนอยู่อย่างที่ขอไม่ได้เลยเปนอันขาด”
จึงโปรดให้ปรับปรุงป้อมดังกล่าวอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งจัดหาอาวุธที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมาติดตั้งประจำไว้ให้ครบถ้วน โดยได้พระราชทานเงินพระคลังข้างที่ (เงินส่วนพระองค์) มาเพิ่มเติมอีกจำนวน 10,000 ชั่ง (ประมาณ 800,000 บาท) เพื่อสมทบการก่อสร้าง ป้อมพระจุลจอมเกล้า โดยเริ่มการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2435 จนแล้วเสร็จในต้นปี พ.ศ.2436 ซึ่งตรงกับเหตุการณ์ ร.ศ.112 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อป้อมปืนแห่งนี้ว่า “ป้อมพระจุลจอมเกล้า” ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2436 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งมหาจักรี ไปทอดพระเนตรป้อมฯ ทรงทดลองยิงปืนเสือหมอบด้วยพระองค์เอง โดยปืนเสือหมอบนั้นเป็นปืนใหญ่ขนาด 6 นิ้วบรรจุท้าย และเป็นรุ่นแรกที่มีใช้ในกองทัพเรือ ซึ่งสั่งมาจาก บริษัท เซอร์ ดับบลิว จีอาร์มสตรอง จำกัด ประเทศอังกฤษ โดยปืนชนิดนี้ถูกติดตั้งอยู่ภายในหลุมที่ขุดลึกลงไปในดิน จำนวน 7 หลุม หลุมละ 1 กระบอก ซึ่งภายในหลุมได้ก่อเป็นกำแพงกว้างพอที่พลประจำปืน จำนวน 10 นาย จะปฏิบัติงานได้ ปืนนี้เวลายิงจะโผล่กระบอกปืนขึ้นมาจากหลุมด้วยแรงไฮดรอลิคส์ และเมื่อทำการยิงแล้วปืนจะถอยลงมาอยู่ในหลุมตามเดิม อันเป็นที่มาของชื่อปืนเสือหมอบ
ในปี พ.ศ.2436 เมื่อการก่อสร้างป้อมพระจุลจอมเกล้าแล้วเสร็จ ก็ได้มีโอกาสรับใช้ประเทศชาติด้วยการต่อสู้กับผู้ล่วงล้ำอธิปไตย ในเหตุการณ์พิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่าการว่าจ้างชาวต่างประเทศเป็นผู้บังคับการเรือและป้อม ไม่เป็นหลักประกันพอที่จะรักษาประเทศได้ สมควรที่จะต้องบำรุงกำลังทหารเรือไว้ป้องกันภัยด้านทะเล และต้องใช้คนไทยทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศทั้งหมด และการที่จะให้คนไทยทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศได้นั้นต้องมีการศึกษาฝึกหัดเป็นอย่างดีจึงจะใช้การได้ จึงทรงส่งพระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ออกไปศึกษาวิชาการ ทั้งในด้านการปกครอง การทหารบก การทหารเรือ และอื่น ๆ ในทวีปยุโรป รวมทั้งได้ทำการฝึกนายทหารเรือไทย เพื่อปฏิบัติงานแทนชาวต่างประเทศตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทำให้กิจการทหารเรือมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศตราบจนปัจจุบัน
กองประชาสัมพันธ์
สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ