23/11/2024

จับผู้ต้องหาชาวเกาหลี OVERSTAY หนีคดีฉ้อโกงเพื่อนร่วมชาติ ความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท

จับผู้ต้องหาชาวเกาหลี OVERSTAY หนีคดีฉ้อโกงเพื่อนร่วมชาติ ความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท

ตามที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ประจำปี พ.ศ.2565 (APEC 2022 Thailand) ในห้วงระหว่างวันที่ 14 – 19 พ.ย.2565 ประกอบกับนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมี พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ที่กำชับให้ สตม. ดำเนินการระดมกวาดล้าง สืบสวนจับกุม ผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 โดยเน้นการกระทำความผิดเกี่ยวกับการอยู่เกินกำหนดอนุญาต (Overstay) และความผิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมในการดูแลรักษาความปลอดภัยในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่กำลังจะมีขึ้นในระยะเวลาอันใกล้

อีกทั้งทำให้การปฏิบัติงานด้านการป้องกันปราบปราม สืบสวนจับกุม เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดย พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผบช.สตม. พร้อมด้วย พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.ธนิต ไทยวัชรามาศ ผบก.สส.สตม., พล.ต.ต.มานัด ศรีวงษา ผบก.ตม.3, พล.ต.ต.เกติ์ฉกาจ นิลประดับ ผบก.ตม.4, พ.ต.อ.รัฐโชติ โชติคุณรอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.อาภากร โกมลสุทธิ รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.ทรงโปรด สิริสุขะ รอง ผบก.ตม.3, พ.ต.อ.ไกลเขต บุรีรักษ์ รอง ผบก.ตม.3, พ.ต.อ.รัชธพงศ์ เตี้ยสุด รอง ผบก.ตม.3, พ.ต.อ.หฤษฎ์ เอกอุรุ รอง ผบก.ตม.3, พ.ต.อ.สิทธิ์ ศิริกังวานกุล รอง ผบก.ตม.4, พ.ต.อ.วีรยศ การุณยธร รอง ผบก.ตม.4, พ.ต.อ.กฤษฎากรณ์ กลิ่นเกษร รอง ผบก.ตม.4 , พ.ต.อ.ณัฐวุฒิ แสงเดือน รอง ผบก.ตม.4, พ.ต.อ.ชิตเดชา สองห้อง ผกก.1 บก.สส. สตม., พ.ต.อ.อุกฤต กัลยาณมิตร ผกก.ตม.จว.กาญจนบุรี, พ.ต.อ.สุทธิพงษ์ พุทธิพงษ์ ผกก.ตม.จว.ประจวบคีรีขันธ์, พ.ต.อ.จิรพงศ์ รุจิรดำรงค์ชัย ผกก.สส.บก.ตม.3,

พ.ต.อ.พิษณุ สิทธิฑูรย์ ผกก.สส.บก.ตม.4 และ พ.ต.อ.สำราญ กลั่นมา ผกก.ตม.จว.สุรินทร์ จึงดำเนินการระดมกวาดล้างอาชญากรรมก่อนการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในห้วงระหว่างวันที่ 5 – 31 ต.ค.65 โดยมีเป้าหมายหลัก เป็นคนต่างด้าวที่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และกฎหมายอื่น ๆ ได้แก่ หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย, การอยู่เกินกำหนดอนุญาต (Overstay), การนำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร ช่วยเหลือซ่อนเร้นคนต่างด้าวให้พ้นจากการจับกุม และการให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) เพื่อสนับสนุนให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542เป็นต้น และเมื่อมีการจับกุมผู้กระทำความผิดได้แล้ว ให้ขยายผลการจับกุมทุกรายเพื่อให้ทราบถึงผู้ร่วมกระทำความผิด เครือข่ายของผู้กระทำความผิด และให้ดำเนินการติดตามจับกุมผู้ร่วมกระทำความผิด/เครือข่ายของผู้กระทำความผิด ต่อไป


ผลการดำเนินการระดมกวาดล้างอาชญากรรม ในห้วงระหว่างวันที่ 5 – 31 ต.ค.65 สตม. สามารถ จับกุมคนต่างด้าวอยู่เกินกำหนดอนุญาต (Overstay) ได้ทั้งสิ้น 719 คดี จับกุมผู้ต้องหาได้ 779 คนเมื่อเปรียบเทียบสถิติการจับกุมคนต่างด้าวอยู่เกินกำหนอนุญาต (Overstay) ห้วงเดือนตุลาคม ปี 2564
กับ เดือนตุลาคมปี 2565 ผลปรากฏว่ามีสถิติเพิ่มขึ้น 584 คดี คิดเป็น ร้อยละ 432.59 และเมื่อเปรียบเทียบสถิติการจับกุมคนต่างด้าวอยู่เกินกำหนดอนุญาต (Overstay) ห้วงเดือนกันยายน 2565กับ เดือนตุลาคม 2565 ปรากฏว่ามีสถิติเพิ่มขึ้น 563 คดี คิดเป็น ร้อยละ 360.90

ทั้งนี้ พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผบช.สตม. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาความปลอดภัยในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ จึงสั่งการให้ สตม. มีการระดมกวาดล้างอาชญากรรมในห้วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างต่อเนื่อง และให้มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยมีเป้าหมายหลักเป็นคนต่างด้าวที่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 โดยเฉพาะข้อหาเป็นคนต่างด้าวอยู่เกินกำหนดอนุญาต (Overstay) และกฎหมายอื่น ๆ เพื่อดำเนินการตามนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเป็นการเตรียมความพร้อมในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและคณะบุคคลสำคัญที่เข้าร่วมภารกิจการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค
ตลอดระยะเวลาการประชุมในครั้งนี้


จากการระดมกวาดล้างอาชญากรรมในห้วงวันที่ 5 – 31 ตุลาคม 2565 มีผลการจับกุมคดีสำคัญ
และน่าสนใจ ดังนี้
1.จับผู้ต้องหาชาวเกาหลี OVERSTAY หนีคดีฉ้อโกงเพื่อนร่วมชาติ ความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.สส.สตม. จับกุมนายบุนซู (นามสมมติ) อายุ 62 ปี สัญชาติเกาหลี โดยกล่าวหาว่า เป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด โดยการจับกุมครั้งนี้ สตม. ได้รับการประสานงานจากกงสุลฝ่ายตำรวจประจำสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย ว่า นายบุนซู (นามสมมติ)เป็นบุคคลที่ทางการเกาหลีใต้ต้องการตัวไปดำเนินคดีในความผิดฐานฉ้อโกง เนื่องจากประมาณกลางเดือนมีนาคม 2559 ที่กรุงเทพฯ นายบุนซู ได้หลอกผู้เสียหายว่าตนเองมีร้านเอาท์เล็ทในกรุงเทพฯ ประมาณ 30 แห่งถ้าผู้เสียหายส่งเสื้อผ้าจากเกาหลีมาไทย จะขายได้ 3 – 15 เท่าของราคาเดิม และรับประกันราคาเสื้อผ้าให้ผู้เสียหาย พร้อมกำไรเพิ่มเติม และบอกกับผู้เสียหายว่าในประเทศไทยธุรกิจอะไรก็สามารถทำได้ง่าย
เพราะพ่อตาของเพื่อนร่วมงานของตนเองเป็นหัวหน้าศาลแห่งหนึ่งในประเทศไทย

นอกจากนี้ นายบุนซูยังขอเงินจากผู้เสียหายในนามค่าธรรมเนียมพิธีการศุลกากรส่งออก นายบุนซูหลอกลวงผู้เสียหายระหว่างวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 ถึงวันที่ 24 มีนาคม 2560 รวมกว่า 36 ครั้ง ทำให้ผู้เสียหายสูญเงินกว่า 3,558 ล้านวอน (ประมาณ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 100 ล้านบาทกก.1 บก.สส.สตม. ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ตม. พบว่า นายบุนซูเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 ม.ค.2563 ได้รับการยกเว้น การตรวจลงตราประเภท ผผ.90 และได้รับการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปถึงวันที่ 18 เม.ย.2565 ปัจจุบันได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยมีการแจ้งที่พักอาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ หลายแห่ง หลังจากนั้นกก.1 บก.สส.สตม. จึงได้ออกสืบสวนติดตามหาตัวนายบุนซู ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในย่าน korean townแหล่งที่พักอาศัยในเขตห้วยขวาง เขตประเวศ กระทั่งต่อมาขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้ออกประชาสัมพันธ์การแจ้งที่พักอาศัยของคนต่างด้าวตามมาตรา 37 และมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เพื่อเตรียมความพร้อมการรักษาความปลอดภัยการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2022 ได้พบเห็นนายบุนซู พักอาศัยอยู่ที่คอนโดมิเนียมในย่าน ถ.ศรีนครินทร์ แขวงบางบอน เขตประเวศ กรุงเทพฯ จึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองขอตรวจสอบหนังสือเดินทางหรือเอกสารที่ใช้แทนหนังสือเดินทาง ในเบื้องต้นผู้ถูกจับไม่มีหนังสือเดินทางแสดงแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับจึงได้เชิญผู้ถูกจับมาตรวจสอบข้อมูลกับระบบ Biometrics พบว่า การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้สิ้นสุดแล้ว และเป็นบุคคลคนเดียวกันกับที่ทางการเกาหลีใต้ต้องการตัว จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบว่า นำตัวส่งพนักงานสอบสวนกลุ่มงานสอบสวน บก.สส.สตม. ดำเนินคดีตามกฎหมาย สถานที่จับกุม บริเวณชั้นจอดรถของคอนโดมิเนียมย่าน ถ.ศรีนครินทร์ แขวงบางบอน เขตประเวศ กรุงเทพฯ

ข่าวที่น่าติดตาม