23/11/2024

กรมทะเลและชายฝั่ง ชี้พะยูน 2 ตัว ที่เสียชีวิตเกิดจากการป่วยตามธรรมชาติ และอุบัติเหตุทางทะเล

กรมทะเลและชายฝั่ง ชี้พะยูน 2 ตัว ที่เสียชีวิตเกิดจากการป่วยตามธรรมชาติ และอุบัติเหตุทางทะเล

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง(ศวอล.) ว่าเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมาได้รับแจ้งจากนายอำนาจ หยังหลัง เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ จม.3 (เกาะกระดาน) กรณีชาวประมงพบซากพะยูนลอยในทะเลบริเวณด้านหลังเกาะมุกด์ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ในการนี้ เจ้าหน้าที่ศวอล. ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ จม.3 (เกาะกระดาน) ในการขนย้ายซากพะยูนมายังที่ทำการอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เพื่อตรวจสอบเบื้องต้นและขนย้ายมายังศวอล. เพื่อทำการชันสูตรโดยพบว่าเป็นเป็นซากพะยูน (Dugong Dugon) ความยาววัดแนบ 269 ซม. เพศเมีย ช่วงโตเต็มวัย สภาพซากสด ความสมบูรณ์ของร่างกายสมบูรณ์มาก (5/5 Body Condition Score) ลักษณะภายนอกพบรอยบาดแผลคล้ายจากการถูกของมีคมบาดบริเวณด้านบนของครีบหาง รอยแผลขนาดใหญ่ยาว 22 ซม. ลึก 3 ซม. เมื่อเปิดผ่าดูอวัยวะภายในพบว่ามีเลือดคั่งอยู่ภายในช่องอกและช่องท้องปริมาณมาก กล้ามเนื้อมีรอยช้ำและฉีกขาดอย่างรุนแรง พบกระดูกด้านขวาของลำตัวหักทั้งหมด 13 ซี่ คาดว่าเกิดจากการถูกกระแทกอย่างรุนแรง รอยกระดูกซี่โครงหักทิ่มแทงทะลุถึงช่องปอดและช่องท้อง สรุปสาเหตุการเสียชีวิตคาดว่าถูกเรือชนจากอุบัติเหตุทางทะเลทำให้กระดูกซี่โครงหักและตายโดยเฉียบพลัน


นายอรรถพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังได้รับแจ้งจาก ศวอล. อีกครั้ง ว่านายมู่หาด เล่ชาย เครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก จ.กระบี่ ได้ประสานมายัง ศวอล. กรณีชาวประมงพบชากพะยูนเกยตื้น บริเวณเกาะสิเหร่ ต.เขาทอง อ.เมือง จ.กระบี่ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ศวอล. ได้เร่งประสานกับชาวประมงในพื้นที่ให้ช่วยขนย้ายซากพะยูนมายังท่าเรือบ้านไหนหนัง ต.เขาคราม อ.เมือง จ.กระบี่ เพื่อขนย้ายมาชันสูตรที่ศูนย์วิจัยฯ ภายหลังการชันสูตรพบว่าเป็นซากพะยูน (Dugong Dugon) ความยาววัดแนบ 177 ซม. เพศผู้ วัยเด็ก สภาพซากเริ่มเน่า ความสมบูรณ์ของร่างกายสมบูรณ์ (3/5 Body Condition Score) ลักษณะภายนอกมีรอยแผลจากพฤติกรรมฝูง บริเวณหลัง ผิวหนังมีรอยด่างและลอกหลุดเล็กน้อย เมื่อเปิดดูอวัยวะภายในพบว่าหัวใจไม่มีเลือดคั่ง มีน้ำในถุงหุ้มหัวใจ เนื้อเยื่อปอดเริ่มเน่า ภายในหลอดลมพบเศษดินอยู่ภายใน คาดว่าสัตว์เกิดการจมน้ำและสำลักเศษดินเข้าไปในทางเดินหายใจ ส่วนของตับพบจุดเลือดออกกระจายเป็นหย่อมๆ สีของของตับไม่สม่ำเสมอส่วนของทางเดินอาหารพบอาหารอัดแน่นเต็มกระเพาะและลำไส้ ผนังลำไส้เล็กพบก้อนลักษณะคล้ายหนองอัดแน่นกระจายเป็นหย่อมๆ และมีจุดเลือดออก พบต่อมน้ำเหลืองขยายขนาดใหญ่ บ่งบอกถึงภาวะการติดเชื้อภายในร่างกาย ไม่พบสิ่งแปลกปลอมภายในทางเดินอาหาร สรุปสาเหตุการตายคาดว่าป่วยตามธรรมชาติ เนื่องจากมีการอักเสบของหัวใจ ตับและพบการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารทำให้สัตว์ป่วย อ่อนแอและจมน้ำตายในที่สุด


จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าการเสียชีวิตของพะยูน และสัตว์ทะเลหายาก มีสาเหตุจากทั้งการป่วยตามธรรมชาติ และอุบัติเหตุทางทะเล ทำให้เราต้องยิ่งตระหนักถึงการดูแล อนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากอย่างเต็มที่ ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายาก จึงอยากฝากพี่น้องประชาชนให้ช่วยกัน เช่น แก้ไขปัญหาขยะทะเลโดยการลดการใช้ถุงพลาสติก การท่องเที่ยวทางทะเลอย่างรับผิดชอบ การเดินเรือหรือการสัญจรทางทะเลด้วยความปลอดภัย ไม่ประมาท รวมถึงทำการประมงอย่างระมัดระวัง โดยสัตว์ทะเลหายาก ใกล้สูญพันธุ์ จำพวกสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม แม้จะไม่ใช่เป้าหมายหลักของการทำประมง แต่สัตว์ทะเลกลุ่มนี้มีโอกาสติดมากับเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ ชาวประมงจะต้องช่วยกันดูแลอนุรักษ์ ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อเกิดเหตุติดมากับเครื่องมือฯ หรือแจ้งเบาะแสมายังสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร.1362 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่เข้าตรวจสอบและช่วยเหลือได้ทันท่วงทีต่อไป “นายอรรถพล กล่าวทิ้งท้าย”

ข่าวที่น่าติดตาม