กาฬสินธุ์ – ตลาดไหมแพรวาสุดเฟื่องส่งต่อรุ่นใหม่ขายออนไลน์ยอดพุ่ง
บรรยากาศการจำหน่ายผ้าไหมแพรวา ราชินีแห่งไหม และผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมแพรวาทอมือบ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ยังเฟื่องฟูและลื่นไหล ผู้ประกอบการยุคบุกเบิกยังดำเนินกิจการต่อเนื่อง ขณะที่หลายรายส่งไม้ต่อให้ลูกหลานสืบสาน เป็นมรดกตกทอดทางภูมิปัญญาล้ำค่า จำหน่ายทั้งหน้าร้านและทางออนไลน์ รายได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 4 ล้านบาท
วันที่ 6 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการจำหน่ายผ้าไหมแพรวา ราชินีแห่งไหม และผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมแพรวา ที่ได้จากการทอด้วยมือชาวผู้ไทบ้านโพน ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ยังได้รับความนิยมจากลูกค้าใกล้ไกลไม่เสื่อมคลาย ซึ่งพบว่าในทุกๆวัน มีทั้งเดินทางมาเลือกซื้อด้วยตนเอง และติดต่อซื้อขายทางออนไลน์ โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ 8 ราย ได้เปิดช่องทางการตลาดผ่านโซเชียลในรูปแบบต่างๆ เช่น เฟซบุค กลุ่มไลน์ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังระบุว่ายอดจำหน่ายสูงกว่าขายหน้าร้านหลายเท่าตัว รายได้รวมวันละ 1 แสนถึง 1 แสน 5 หมื่นบาท หรือเดือนละ 3 ล้านถึง 4 ล้าน 5 แสนบาท
นางสาวอุมาพร ลามุล อายุ 31 ปี เจ้าของร้านมรดกภูไท เลขที่ 149 หมู่ 2 บ้านโพน ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เดิมครอบครัวตนเปิดร้านขายอุปกรณ์และสินค้าทางการเกษตร ควบคู่กับปลูกพุทราและผลไม้ ต่อมาเห็นตลาดผ้าไหมแพรวาเฟื่องฟูมาก ประกอบกับตนเป็นคนรุ่นใหม่ จึงมีแนวคิดว่าผ้าไหมแพรวา ต้องไม่ใช่แค่ผ้าซิ่นหรือสไบ ผ้าไหมแพรวาต้องไปไกลกว่านี้ ตลาดต้องกว้างไกลกว่าที่ผ่านมา ทุกเพศ ทุกวัย สามารถตัดเย็บเป็นเดรสสูท หรือเสื้อผ้าสวมใส่ได้ทุกโอกาส ในปี 2561 จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้าขายมาจำหน่ายผ้าไหมแพรวา รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมแพรวา เพียงระยะเวลา 4 ปี ประสบผลสำเร็จทั้งยอดขาย จำหน่ายทั้งหน้าร้านและทางออนไลน์ สามารถพูดได้ว่าถึงแม้ที่ผ่านมาสภาพเศรษฐกิจจะอย่างไร หรือประสบสถานการณ์โควิด-19 ยังไง แต่การค้าขายผ้าไหมแพรวาไม่กระทบ ยังไปได้เรื่อยๆ ภูมิใจที่ผ้าไหมแพรวา สามารถสร้างอาชีพและรายได้สู่ชุมชน ไม่ต่างจากเปลี่ยนอาชีพจากไร่นาสู่ผ้าทอ ทำให้ชาวบ้านโพนมีรายได้ยั่งยืน
ด้านนายบุญมาก บุตรผา อายุ 75 ปี เจ้าของร้านบุญมากไหมไทย เลขที่ 7 หมู่ 3 บ้านโพน ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ครอบครัวตนเป็นอีกครอบครัวหนึ่งในยุคบุกเบิกการทอผ้าไหมแพรวา กระทั่งเปิดร้านจำหน่าย จากวันนั้นถึงวันนี้กว่า 40 ปี คือตั้งแต่ปี 2520 หลังจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับการทอผ้าไหมแพรวาในโครงการศิลปาชีพฯ และทรงให้การส่งเสริมสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ โดยโปรดเกล้าฯ ให้พัฒนารูปแบบการทอผ้า จนได้ชื่อว่าเป็นราชินีแห่งไหม เหมาะแก่การนำไปตัดเป็นชุดสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ ทั้งนี้ เสน่ห์ของผ้าไหมแพรวา หรือเอกลักษณ์เฉพาะนอกจากจะทอมือ ย้อมสีธรรมชาติแล้ว แพรวามีถึง 100 ลาย ถึงแม้ปัจจุบันจะมีการออกแบบลายประยุกต์ใหม่ๆ แต่ลายที่ได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลายคือลายดั้งเดิมหรือลายโบราณ
ขณะที่นางวิมลรัตน์ บุตรผา อายุ 32 ปี ลูกสาวนายบุญมาก กล่าวว่า ผ้าไหมแพรวาเป็นที่รู้จักของชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทำให้ชาวบ้านโพนมีรายได้จากการจำหน่ายผ้าแพรวา ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังเอื้อให้ชุมชนสืบทอดการทอผ้าไหมแพรวาสู่รุ่นลูกรุ่นหลานอีกด้วย ภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดและส่งต่อภูมิปัญญาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่สู่สายตาชาวโลก ซึ่งตนจะรักษาไว้และส่งต่อถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะเห็นแล้วว่าผ้าไหมแพรวา งานคุณภาพจากการทอมือ เป็นมรดกล้ำค่าของชาวผู้ไทบ้านโพน ทั้งนี้ ในส่วนตลาดทุกวันนี้ไม่ใช่อยู่ที่หน้าร้าน หรือการแข่งขันของผู้ประกอบการภายในชุมชน ตนมองว่าทำอย่างไรจะกระจายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวาสู่ตลาด สู่กลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น จึงได้เปิดการขายทางเฟซบุค กลุ่มไลน์ ขนส่งทางไปรษณีย์หรือขนส่งอื่นๆ ซึ่งสามารถนำส่งลูกค้าทุกภูมิภาคได้สะดวก รวดเร็ว และประหยัด ทั้งนี้ ตนยึดความซื่อสัตย์ จริงใจกับลูกค้า เพื่อที่จะได้รับความประทับใจ คิดถึงเราและกลับมาอุดหนุนอีก