ผบ.ตร.มอบ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เข้าร่วมคณะผู้แทนไทย ประชุมกลไกแก้ไขค้ามนุษย์ Bali Process ณ เครือรัฐออสเตรเลีย
ผบ.ตร.มอบ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เข้าร่วมคณะผู้แทนไทย ประชุมกลไกแก้ไขค้ามนุษย์ Bali Process ณ เครือรัฐออสเตรเลีย
เมื่อวันที่ 9 ก.พ.66 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) ได้ร่วมกับ นางสาวอาจารี ศรีรัตนบัลล์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงแคนเบอร์ร่า และนายพืชภพ มงคลนาวิน รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมกระบวนการบาหลี (Bali Process) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 ก.พ.66 และจะมีการประชุมในระดับรัฐมนตรีต่อในวันที่ 10 ก.พ.66 ณ หอประชุมอะดิเลด คอนเวนชั่น เซนเตอร์ เมืองอะดิเลด เครือรัฐออสเตรเลีย
กระบวนการบาหลี (Bali Process) เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์และการลักลอบขนคนเข้าเมือง อาชญากรรมข้ามชาติโดยมีเครือรัฐออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพในการผลักดันร่วมกับประเทศอินโดนีเซีย และไทย ซึ่งมีประเทศสมาชิกที่ให้ความร่วมมือกันถึง 45 ประเทศในเขตพื้นที่เอเชียแปซิฟิก ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ ได้มีการนำเสนอเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการซึ่งได้มีการดำเนินการไปในห้วงปีที่ผ่านมา รวมทั้งขอความคิดเห็นจากประเทศสมาชิกเพื่อพัฒนาแนวทางการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์และการลักลอบขนคนเข้าเมือง โดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้มีโอกาสในการนำเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ และการบังคับใช้แรงงานที่เป็นการค้ามนุษย์ ซึ่งที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้มีการประสานงานกับหลายประเทศเพื่อช่วยเหลือคนไทยที่ตกเป็นเหยื่อการถูกหลอกไปบังคับใช้แรงงานกลับมายังประเทศไทยได้มากถึง 1,105 คน
นอกจากนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้มีการหารือกับผู้แทนจากสหรัฐอเมริกา และประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีในการสืบสวน และการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ และยังได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการประสานงานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่มีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า การประชุมกระบวนการบาหลีครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอีกครั้งในการแสวงหาความร่วมมือจากนานาประเทศในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และการลักลอบขนคนเข้าเมือง ซึ่งในครั้งนี้มีผู้แทนจากประเทศต่างๆมากถึง 30 ประเทศ และ 6 องค์กรระหว่างประเทศที่จะช่วยขับเคลื่อนกลไกการทำงานต่างๆให้สำเร็จด้วยดี อีกทั้งยังได้รับความสนใจจากผู้แทนสหรัฐอเมริกาและนิวซีแลนด์ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของไทย รวมทั้งการสนับสนุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีในการสืบสวน และการฝึกอบรมความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลายประเทศพร้อมจะให้ความร่วมมือกับประเทศไทย
รอง ผบ.ตร.ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมาย ด้านการสืบสวนสอบสวน เนื่องจากอาชญากรรมในปัจจุบันเป็นอาชญากรรมลูกผสม (Hybrid crimes) ที่เชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งการหลอกลวงออนไลน์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปลอดภัย และการลักลอบขนย้ายคน ซึ่งหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายในประเทศสมาชิกควรร่วมมือกันในการประสานข้อมูลสืบสวนสอบสวน เพื่อการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดควบคู่ไปกับการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหาย โดยเน้นการทำงานแบบผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางและการดูแลบาดแผลทางใจ ตั้งแต่กระบวนการระบุตัวผู้เสียหายไปจนถึงการส่งกลับคืนสู่ประเทศต้นทางและการคืนสู่สังคม