พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ พบปะหารือกับผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย ประสานความร่วมมือปราบปรามคดีถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศ
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ พบปะหารือกับผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย ประสานความร่วมมือปราบปรามคดีถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศ
วันนี้ (17 ก.พ.66) เวลา 11.00 น. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ได้ให้การต้อนรับ ดาโต๊ะ สรี อับดุล จาลิล บิน ฮัซซาน (CP Dato’ Sri Abd Jalil bin Hassan) ผู้บัญชาการแผนกสืบสวนอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย, ดาตุ๊ก โจจี้ ซามูแอล (H.E Datuk Jojie Samuel) เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย และคณะผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย เพื่อเข้าเยี่ยมคารวะ และประสานงานความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามคดีที่ผู้เสียหายชาวมาเลเซียซึ่งถูกหลอกไปทำงานยังต่างประเทศ ณ ห้องพรหมนอก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย ได้นำเสนอเกี่ยวกับข้อมูลคดีเกี่ยวกับผู้เสียหายชาวมาเลเซีย ซึ่งถูกหลอกให้สมัครงานผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะหลอกว่าเป็นงานดูแลลูกค้า (Customer Service) ซึ่งมีรายได้ดี และทำงานที่ประเทศ่ลาวและเมียนมา โดยค่าใช้จ่ายผู้รับสมัครจะออกให้ทั้งหมด เมื่อมีผู้หลงเชื่อ ก็จะพาเดินทางผ่านประเทศไทย มีทั้งทางบก และทางอากาศ แล้วพาผู้เสียหายออกไปยังประเทศที่สาม ทั้งลาวและเมียนมา เมื่อไปถึงพบว่างานที่ให้ทำไม่ตรงกับที่สมัครไว้ กลับเป็นงานที่ให้หลอกคนมาลงทุน หรือหลอกให้โอนเงิน ทำให้ไม่อยากทำงาน สุดท้ายต้องลงเอยด้วยการเสียเงินไถ่ตัวเพื่อจะเดินทางกลับประเทศ สุดท้ายต้องหาทางเดินทางกลับมาเลเซียด้วยตนเอง ทั้งนี้จึงต้องการประสานความร่วมมือกับทางการไทย ซึ่งถูกใช้เป็นทางผ่าน ในการร่วมกันปราบปรามอาชญากรรมประเทศดังกล่าว เพื่อป้องกันเหตุลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติอื่นๆ ต่อไป
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า การพบปะหารือกันในวันนี้ ถือเป็นการสร้างความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของทั้งสองประเทศ ในการปราบปราบอาชญากรรมเกี่ยวกับการหลอกผู้เสียหายไปทำงานคอลเซ็นเตอร์ที่ต่างประเทศ ซึ่งจากกรณีดังกล่าว ประเทศไทยมีสถานะเป็นทางผ่านให้ผู้เสียหายเดินทางไปสู่ประเทศที่สาม ซึ่งคดีเหล่านี้มีลักษณะการกระทำผิดคล้ายกับที่ผู้เสียหายชาวไทยได้เคยประสบเหตุมาแล้ว และเราสามารถให้การช่วยเหลือผู้เสียหายชาวไทยกลับมาได้อย่างปลอดภัยเป็นจำนวนมาก ครั้งนี้จึงถือเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายในต่างประเทศ รวมทั้งร่วมมือกันในการป้องกันอาชญากรรมในลักษณะดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติในอนาคตต่อไป