ลำพูน – สพป.เขต2 ลำพูน สุดเจ๋ง ขับเคลื่อน “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” สร้างความตระหนักรู้ให้เด็กปลอดภัยจาก PM 2.5
ลำพูน – สพป.เขต2 ลำพูน สุดเจ๋ง ขับเคลื่อน “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” สร้างความตระหนักรู้ให้เด็กปลอดภัยจาก PM 2.5
วันนี้(21 ก.พ. 66) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 นำโดย นายสิขสิทธิ์ ผลจันทร์งาม รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 พร้อมด้วย นางชลลดา สะอาดวงค์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นิอร สิริมงคลเลิศกุล หัวหน้าโครงการวิจัย ห้องเรียนสู้ฝุ่น ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงาน “ห้องเรียนสู้ฝุ่น”
เพื่อสร้างควทมตระหนักรู้ด้านสุขภาพให้แก่ครูและนักเรียน ลดผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 รวมทั้ง สามารถนำไปขยายผลต่อครอบครัวและชุมชนได้ โดยมีนักเรียน และครู จากโรงเรียนในสังกัดเข้าร่วมขับเคลื่อน ณ ห้องประชุมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2
ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ “การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง เป็นวาระแห่งชาติ และมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในภาพรวมของประเทศ และในพื้นที่วิกฤตโดยการบูรณาการดำเนินงานร่วมกันในทุกภาคส่วน (กรมควบคุมมลพิษ, 2562)
ดังนั้น เพื่อเป็นการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยงอย่างกลุ่มเด็กที่อาศัยในพื้นที่ มีการพบการเผาเป็นปริมาณมาก ร่างกายต้องรับกับปริมาณฝุ่นละอองพิษอันเกิดจากการเผาในที่โล่งเป็นประจำ ก่อให้เกิดการสะสมของสารพิษในร่างกายอันส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ จึงเป็นที่มาของ “โครงการสร้างการเรียนรู้และการสื่อสารสู้ภัยฝุ่น เพื่อการปกป้องด้านสุขภาพในโรงเรียนต่อภาวะวิกฤตปัญหาฝุ่นละออง” ใน 3 พื้นที่ต้นแบบ ได้แก่
จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และ จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยทั้งสามจังหวัดถือได้ว่าเป็นพื้นที่วิกฤตและมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน โดยเป็นพื้นที่ๆ พบจุดความร้อนมากที่สุดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยและเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดค่าฝุ่นละอองสูงอันส่งผลต่อสุขภาพของคนในพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆในโรงเรียน เป็นพื้นที่ๆเด็กมารวมตัวกันและใช้เวลาส่วนมากในโรงเรียน
ดังนั้น หากทางโรงเรียนได้มีการติดตามคุณภาพอากาศในแต่ละวัน แบบทันทีทันใด (Real Time) จะทำให้โรงเรียนสามารถทราบถึงระดับฝุ่นในโรงเรียนและสามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม เช่น งดกิจกรรมกลางแจ้ง ปรับเปลี่ยนการเรียนวิชาพละในห้องปิด ประกาศให้นักเรียนอยู่ในพื้นที่ห้องปลอดภัย (Safe Zone) ตลอดจนออกแบบการเรียนรู้เรื่องภัยฝุ่นนี้ในโรงเรียนเพื่อให้นักเรียนเกิดความเข้าใจสถานการณ์วิกฤตและสามารถปกป้องตนเองอย่างปลอดภัยได้ ด้วยการยอมสวมหน้ากากอนามัย จนทำให้เกิดเป็นเรื่องปกติ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการลดผลกระทบด้านสุขภาพได้อย่างทันท่วงที
พร้อมกันนี้เด็กนักเรียนยังสามารถส่งต่อความรู้ให้คนในครอบครัวสามารถรับมือกับสภาวะฝุ่นวิกฤตนี้ได้อย่างปลอดภัย โดยโครงการนี้ มุ่งเน้นในการสร้างกลไกลการรับมือด้านสุขภาพกับปัญหาฝุ่นในโรงเรียนสู่การร่วมมือของชุมชนและท้องถิ่น โดยให้โรงเรียนเป็นแกนกลางในการสร้างองค์ความรู้และกิจกรรมต่างๆ โดยให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางและมีการเชื่อมโยงกับชุมชนผ่านความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยการกำหนดนโยบายการรับมือกับฝุ่นวิกฤตในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมผ่านข้อบัญญัติของท้องถิ่นสู่การนำเสนอนโยบายในระดับประเทศต่อไป
โครงการนี้เป็นการบูรณาการความร่วมมือหลายภาคส่วนในพื้นที่เพื่อร่วมกันศึกษาและสร้างพื้นที่ต้นแบบในการรับมือกับค่าฝุ่นวิกฤตในโรงเรียน ตลอดจนความเป็นไปได้ของการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องฝุ่นกับสุขภาพในระดับประถมศึกษาตอนปลาย (ประถม 4 – ประถม 6) รวมถึงความเป็นไปได้ของการเสนอนโยบายฝุ่นกับการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป การบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆประกอบไปด้วย ห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม ร่วมกับ สมาคมยักษ์ขาวซึ่งจะสนับสนุนเครื่องวัดฝุ่นขนาดเล็ก และ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 ได้คัดเลือก โรงเรียนต้นแบบห้องเรียนสู้ฝั่น จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านแม่เทย โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร อำเภอลี้ และโรงเรียนบ้านดง อำเภอทุ่งหัวช้าง เพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินงาน โดยให้นักเรียนเป็นผู้นำในการสื่อสารด้วยระบบ “ธงสุขภาพ” โดยยึดหลักการใช้สีธงตามระดับสีของค่า PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยด้านสุขภาพให้แก่นักเรียนในพื้นที่ที่จะสามารถปรับตัวและเพื่อเป็นการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองในยามที่เกิดวิกฤตด้านฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของตนเองได้อีกด้วย
กรรณิการ์ วิจิตรสกลการ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดลำพูน