อยุธยา – รองนายกฯ ประวิตร ลงพื้นที่ตรวจติดตามแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และแผนพัฒนาแหล่งน้ำสำคัญในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมกำชับเร่งลดปัญหาแล้งในพื้นที่
อยุธยา – รองนายกฯ ประวิตร ลงพื้นที่ตรวจติดตามแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และแผนพัฒนาแหล่งน้ำสำคัญในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมกำชับเร่งลดปัญหาแล้งในพื้นที่
วันนี้ (8 มี.ค. 66) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พร้อมคณะ และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ติดตามการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและพบปะประชาชนในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.สระบุรี
โดยช่วงแรกได้ตรวจติดตามแผนงานและโครงการสำคัญในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ณ วัดสะตือพุทธไสยาสน์ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ในการนี้ นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวต้อนรับและบรรยายสรุปภาพรวมของจังหวัด จากนั้น นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช.ได้นำเสนอแผนบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่างและแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน นำเสนอความก้าวหน้าโครงการระบายน้ำหลาก ชัยนาท – ป่าสัก – อ่าวไทย ตามแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง และการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเขตอำเภอท่าเรือ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำของเขื่อนพระรามหก และ นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นำเสนอโครงการก่อสร้างในแผนการพัฒนาในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จากนั้น รองนายกรัฐมนตรี ได้พบปะทักทายประชาชน ก่อนเดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำของ จ. สระบุรี
ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ พลเอก ประวิตรฯ ได้มอบนโยบายให้กับหน่วยงานต่างๆ สำหรับพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีสภาพโดยรวมเป็นที่ราบลุ่มอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมักประสบปัญหาน้ำหลากเข้าท่วมบ้านเรือน พื้นที่ทำกิน รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจ จึงได้มอบหมายให้ สทนช. เร่งรัดการดำเนินการตามแผนการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผน โดยเฉพาะโครงการคลองระบายน้ำชัยนาท-ป่าสัก, ป่าสัก-อ่าวไทย และบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยพื้นที่อำเภอท่าเรือ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำจากเขื่อนพระรามหก มอบกรมชลประทานเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ รวมถึงซ่อมแซมอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งานเพื่อเตรียมรับฤดูน้ำหลากที่จะมาถึง พร้อมมอบกรมโยธาธิการและผังเมืองเร่งก่อสร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วมบริเวณเขตโบราณสถานเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งและรายงานผลต่อ กนช. อย่างต่อเนื่อง และขอให้จังหวัด เร่งสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์โครงการด้านทรัพยากรน้ำ รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในโครงการต่างๆ ของหน่วยงานรัฐอย่างต่อเนื่อง
ด้าน นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมถึงความก้าวหน้าในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีปัญหาอุทกภัยในพื้นที่บ่อยครั้ง รัฐบาลได้ดำเนินการตามแผนบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง มีผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ปี 61 – 65 มีแผนงาน/โครงการ จำนวน 1,058 แห่ง/บ่อ พื้นที่รับประโยชน์ 228,806 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 15,592 ครัวเรือน และดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ระยะทางประมาณ 11,400 เมตร สำหรับปีงบประมาณ ปี 66 – 67 ตัวอย่างโครงการสำคัญที่จะดำเนินการไ ด้แก่ โครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนบางปะอิน โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ประตูระบายน้ำปากคลองบางหลวง ต.บางหัก อ.บางบาล เป็นต้น
นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง เป็น 1 ใน 9 แผนงานของแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีมติเห็นชอบในหลักการ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและน้ำแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ด้วยการปรับปรุงระบบชลประทานตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนพระรามหก ถึง คลองชายทะเล มีการปรับปรุงขุดขยายคลองชลประทานเดิม จำนวน 26 คลอง ความยาวรวมประมาณ 490 กิโลเมตร รวมทั้งก่อสร้างและปรับปรุงอาคารบังคับน้ำเพิ่มเติม บริเวณคลองต่างๆ ให้สามารถระบายน้ำได้มากขึ้น วางแผนดำเนินการไว้ 6 ปี (พ.ศ. 2567 – 2572) หากสามารถดำเนินการได้จนแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มอัตราการระบายน้ำจากเดิม 210 ลบ.ม./วินาที เป็น 400 ลบ.ม./วินาที เป็นแหล่งเก็บกักน้ำในคลองสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม./ปี ที่สำคัญจะช่วยบรรเทาอุทกภัยและลดพื้นที่น้ำท่วมได้มากถึง 276,000 ไร่
นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้วางแผนโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท – ป่าสัก – อ่าวไทย ซึ่งเป็นแผนระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำหลาก ด้วยการก่อสร้างคลองระบายน้ำชัยนาท-ป่าสัก ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำของคลองชัยนาท – ป่าสักได้ประมาณ 930 ลบ.ม./วินาที คู่ขนานกับคลองส่งน้ำอีก 130 ลบ.ม./วินาที มีการก่อสร้างเขื่อนพระรามหกแห่งใหม่ทดแทนเขื่อนพระรามหก ที่มีอายุการใช้งานมาเกือบ 100 ปี รวมทั้งก่อสร้างคลองระบายน้ำป่าสัก-อ่าวไทย ที่จะใช้ระบายน้ำต่อเนื่องจากคลองชัยนาท – ป่าสัก ที่จะช่วยตัดยอดน้ำหลากในแม่น้ำป่าสักได้ประมาณ 600 ลบ.ม./วินาที ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตอำเภอท่าเรือ รวมถึงพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร จนถึงจังหวัดสมุทรปราการอีกด้วย
นายพงศษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดี รายงานว่า กรมโยธัชธิการและผังเมืองในแผนการพัฒนาพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีภารกิจอยู่ 2 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 การป้องกันน้ำท่วมพื้นที่โบราณสถาน ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ วัดไชยวัฒนาราม วัดธรรมาราม วัดนิเวศธรรมประวัติ วัดพนัญเชิง และวัดกษัตราธิราช และพื้นที่ชุมชน ได้ศึกษาออกแบบไว้ 9 ชุมชน ได้แก่ เกาะเมืองอยุธยา อโยธยา เสนา-สามกอ ท่าเรือ ท่าหลวง นครหลวง อรัญญิก บางบาลและบางปะอิน ครอบคลุมพื้นที่ 62 ตารางกิโลเมตร มีผู้ได้รับประโยชน์ 53,600 ครัวเรือน โดยได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 3 พื้นที่ ได้แก่ เกาะเมืองอยุธยา อโยธยา และเสนา-สามกอ สำหรับพื้นที่อื่นๆจะทยอยดำเนินการต่อไป
สำหรับด้านที่ 2 การป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำสายหลัก ซึ่งมีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2539 จำนวนรวม 101 โครงการ ก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 75 โครงการ ทั้งนี้ ในอำเภอท่าเรือ มีการดำเนินการก่อสร้างแล้วจำนวน 5 โครงการ ความยาว 1,229 เมตร ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้แก้ไขความเดือดร้อน เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแก่ประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สุจินดา อุ่นขาว รายงานจากอยุธยา