23/11/2024

วิษณุ -พิพัฒน์ เปิดงาน “มหัศจรรย์แห่งวิถีลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา สู่การเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน”

วิษณุ -พิพัฒน์ เปิดงาน “มหัศจรรย์แห่งวิถีลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา สู่การเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ประกาศพื้นที่พิเศษฯ เป้า 5 ปี ยกระดับ 142 ท้องถิ่นพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยว สู่การกระจายและเพิ่มรายได้ให้แก่ท้องถิ่น

ช่วงเย็นวันนี้ ( 17 มี.ค.66 ) ที่บริเวณท่าเรือ บริษัท เซ้าท์เธิร์นโลจิสติกส์ (2009) จำกัด อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน “มหัศจรรย์แห่งวิถีลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา สู่การเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” โดยมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายอารัญ บุญชัย ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พร้อมด้วยผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ ชุมชนและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วม

สำหรับงานมหัศจรรย์แห่งวิถีลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา สู่การเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 19 มีนาคม 2566 ณ พื้นที่ย่านเมืองเก่าสงขลา โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่ากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน โดยใช้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นกลไกในการขับเคลื่อนและนำไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ร่วมกัน โดยพื้นที่พิเศษฯ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ ครอบคลุมพื้นที่ใน 15 อำเภอ ของ 3 จังหวัด

ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา รวม 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสงขลา ระโนด สทิงพระ กระแสสินธุ์ สิงหนคร หาดใหญ่ ควนเนียง บางกล่ำ จังหวัดพัทลุง รวม 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง ปากพะยูน บางแก้ว เขาชัยสน ควนขนุน รวมทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราช รวม 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชะอวด และหัวไทร ทั้งนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่รวม 142 แห่ง และจะได้รับการพัฒนาและจะมีกิจกรรมการ ท่องเที่ยวโดยชุมชน อย่างน้อยท้องถิ่นละ 1 กิจกรรม หรือ 1 เส้นทาง ภายในระยะ 5 ปี ของแผนยุทธศาสตร์ฯ รวมถึงการผลักดันพื้นที่เมืองเก่าสงขลา เพื่อเสนอต่อยูเนสโกประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลก

โดยกิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้การขับเคลื่อนและพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เพื่อสร้างการรับรู้ถึงการประกาศพื้นที่พิเศษฯ ให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างและส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ถึงประโยชน์ และจะได้ร่วมกันขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษ ฯ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ภายใต้การมีส่วนร่วมของภาคีทุกภาคส่วน นำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้และสร้างความสุขให้กับชุมชุนและท้องถิ่น

ด้านแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) อพท. ได้กำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาพื้นที่ คือ “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ ประกอบด้วย 1) พัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อมุ่งสู่ชุมชนแห่งความสุข 2) สร้างเสริมและกระจายรายได้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้วยการท่องเที่ยวโดยชุมชน 3) สร้างต้นแบบของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่น 4) ประสานความร่วมมือทุกภาคีเพื่อเสริมสร้างศักยภาพกลไกและระบบบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่นำไปสู่ความยั่งยืนอย่างบูรณาการ และ 5) พื้นที่ได้รับการพัฒนาตามแนวทางของเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก

สำหรับความโดดเด่นของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยคุณค่าของทรัพยากรท่องเที่ยวทั้งด้านธรรมชาติ มีความเข้มแข็งทั้งด้านประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต และประวัติศาสตร์ (ชิงกอรา : Singora) เป็นพื้นที่พหุสังคมวัฒนธรรม 3 ศาสนา พุทธ มุสลิม และจีน จึงมีเรื่องราวที่สามารถพัฒนาและนำเสนอต่อนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งการได้ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษฯ ทำให้เกิดการบูรณาการในการขับเคลื่อนร่วมกันทั้ง 3 จังหวัดในพื้นที่ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และ อพท. มีเป้าหมายผลักดันพื้นที่เมืองเก่าสงขลาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานในระดับสากล และการขับเคลื่อนเมืองสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก เพื่อบรรลุเป้าหมายใหญ่ร่วมกันตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการจะพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มรายได้และกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น

 

ข่าวที่น่าติดตาม