กาฬสินธุ์ ม.กาฬสินธุ์ร่วมกับกรมประมงยกระดับระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำก้าวไกลในระดับสากล
มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ร่วม กรมประมง ทำ MOU วิชาการ สร้างเครือข่ายทางการศึกษา วิจัย และพัฒนา เพื่อช่วยให้การประมงของประเทศไทยก้าวไกลในระดับสากล
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ที่ณ หอประชุมอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ต.กาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ได้จัดพิธีลงนาม MOU ระหว่าง มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์กับ กรมประมง เพื่อบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ ในการพัฒนาการเรียน การสอน การวิจัย ร่วมกันบริการวิชาการระหว่างหน่วยงาน โดยการลงนามระหว่าง รองศาสตราจารย์ จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และ นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยผู้บริหาร บุคลากรทั้งสองหน่วยงานร่วมกันเป็นสักขีพยานในการทำบันทึกข้อตกลง
รองศาสตราจารย์ จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ที่มีแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัย เพื่อผู้ใหญ่และวัยทำงานมีเป้าหมายใหม่ในการพัฒนาบุคลากรประจำการทั้งภาครัฐและเอกชน ให้เป็นสถาบันที่ใช้ในการยกระดับสมรรถนะของการประกอบอาชีพ หรือเพิ่มโอกาสในการพัฒนางานให้มีทักษะ สมรรถนะ และตำแหน่งที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางในการจัดการอุดมศึกษา รูปแบบใหม่ที่ใช้การพัฒนาเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้มีโอกาสสร้างความร่วมมือทางวิชาการ การพัฒนาวิชาการด้านการเรียนการสอน การวิจัยและการบริการวิชาการ ภายใต้ขอบเขตและแนวทางที่จะดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกัน ซึ่งการบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ ได้กำหนดให้มีระยะเวลาในการดำเนินการร่วมกัน 4 ปี นับจากวันลงนาม เพื่อพัฒนาทางวิชาการร่วมกันด้านวิชาการประมง ทำวิจัย และพัฒนาความร่วมกันในหัวข้อเรื่องที่จะใช้แก้ปัญหาทางด้านการประมง
พร้อมทั้งขยายผลโครงการวิจัยทางด้านการประมงที่มีศักยภาพสู่เกษตรกรบริการวิชาการทางด้านการประมงแก่เกษตรกร สถานประกอบการ และผู้ที่สนใจ และเพื่อพัฒนาบุคลากรทั้งสองฝ่าย โดยแบ่งปันทรัพยากรทางด้านการเรียน การสอน การวิจัยบุคลากร นักศึกษา นักวิจัย นักวิชาการ วัสดุอุปกรณ์ และข้อมูลด้านการประมงซึ่งกันและกัน รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งเพื่อพัฒนา และเพิ่มศักยภาพภาคประมงของประเทศไทยต่อไป ในนามของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ขอขอบคุณ กรมประมง ที่ได้ให้เกียรติมาร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยมั่นใจอย่างยิ่งว่าการสร้างความร่วมมือนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจังหวัดกาฬสินธุ์ และภาคอีสาน รวมทั้งพัฒนาบุคลากรทั้งสองฝ่าย และเป็นการสร้างเครือข่ายทางการศึกษา วิจัย และพัฒนา เพื่อช่วยให้การประมงของประเทศไทยก้าวไกลในระดับสากล ตามแนวคิดของมหาวิทยาลัย ในการเชื่อมโลกการศึกษา และโลกของการประกอบอาชีพเป็นโลกใบเดียวกัน
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงในฐานะหน่วยงานของรัฐ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ทำการศึกษา ค้นคว้า สำรวจ วิจัย วิเคราะห์ ทดลอง ด้านวิชาการทุกสาขาวิชาการของประมง ตลอดจนทำการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาอาชีพที่เกี่ยวกับการประมงของประเทศให้เจริญก้าวหน้า การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทางการศึกษาที่มีชื่อเสียง เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการส่งเสริมการเรียนรู้ ภูมิปัญญา เป็นแหล่งสร้างงานวิจัย การบริการวิชาการและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น รวมไปถึงสร้างคุณค่าและคนดี สู่สังคมให้ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างชุมชนท้องถิ่นนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน การลงนามในบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ การพัฒนาวิชาการด้านการเรียนการสอน การวิจัยและการบริการวิชาการ กรมประมง มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะร่วมมือทางวิชาการดังกล่าว
ภายใต้ขอบเขตและแนวทางที่จะดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อพัฒนาทางวิชาการร่วมกันด้านวิชาการประมง การวิจัย การศึกษา และการพัฒนาบุคลากร ผนึกกำลังในการสร้างความเข้มแข็งเพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพภาคประมงของประเทศไทยต่อไป การสร้างความร่วมมือภายใต้การขับเคลื่อนบันทึกความร่วมมือฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับบุคลากรทั้งสองฝ่าย โดยแบ่งปันทรัพยากรทางด้านการวิจัย บุคลากรด้านการประมง ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของกรมประมงกล่าวว่า “ยกระดับการประมงไทยให้แข่งขันได้ โดยใช้ทรัพยากรอย่างสมดุล พร้อมผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างความมั่งคั่งแก่เกษตรกร” และเป็นโอกาสอันดีที่กรมประมงได้สร้างเครือข่ายทางการศึกษา วิจัย พัฒนาเพื่อช่วยให้การประมงของประเทศไทยก้าวไกลในระดับสากล
ทั้งนี้ หลักจากเสร็จพิธีการลงนาม MOU รองศาสตราจารย์ จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้ร่วมชื่นชมและแสดงความยินดีกับนายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ในโอกาสได้รับปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาประมง ผู้ซึ่งมีคุณูปการต่อมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ให้กับสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน ด้วยการให้หน่วยงานของกรมประมงรับนักศึกษาเข้าฝึกงานและฝึกประสบการณ์ภายนอกหน่วยงานในสังกัดกรมประมงพร้อมทั้งเป็นอาจารย์พิเศษให้ความรู้แก่นักศึกษาพร้อมทั้งร่วมบูรณาการทำงานด้านการวิจัยร่วมกันจึงได้ประกาศเกียรติประวัติอันทรงคุณค่านี้ให้ไว้สืบไป