23/11/2024

ขอนแก่น -สร้างนวัตกรรม “พร้อมกอดเสี่ยวฮักโมเดล” ต้นแบบความปลอดภัย แก้ไขปัญหาภาวะซึมเศร้า

ขอนแก่น -สร้างนวัตกรรม “พร้อมกอดเสี่ยวฮักโมเดล” ต้นแบบความปลอดภัย แก้ไขปัญหาภาวะซึมเศร้า


เมื่อเร็วๆนี้ ห้องประชุมอาคารอนุสรณ์ 100 ปี โรงเรียนกัลยาณวัตร อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบนโยบายในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมเปิดต้นแบบสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาด้านความปลอดภัยและการป้องกัน แก้ไขปัญหาภาวะซึมเศร้าในนักเรียนด้วยนวัตกรรม “พร้อมกอดเสี่ยวฮักโมเดล” (PROMPT GHOD SIAO HUGS Model) เพื่อให้เป็นนวัตกรรมในการนำไปใช้ดำเนินงานด้านความปลอดภัย โดยให้สถานศึกษาในสังกัดทุกแห่งนำไปเป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหรือเผชิญเหตุเมื่อพบภาวะซึมเศร้าในนักเรียน


ดร.อัมพร พินะสา กล่าวว่า จากการที่ตนและคณะได้ติดตามนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจนักเรียน ผู้ปกครอง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไฟคลอกในกิจกรรมค่ายลูกเสือแห่งหนึ่งในจังหวัดหนองบัวลำภู และถูกส่งตัวมารักษาต่อที่จังหวัดขอนแก่น พร้อมทั้งเยี่ยมให้กำลังใจนักเรียนที่เข้ารับการรักษาอันเนื่องมาจากภาวะซึมเศร้าที่โรงพยาบาลขอนแก่น ซึ่งปัจจุบันพบว่าภาวะซึมเศร้าเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ส่งผลด้านลบต่อนักเรียนและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

ประกอบกับได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของจังหวัดขอนแก่นว่าเป็นจังหวัดศูนย์กลางของภูมิภาคอีสาน เป็นศูนย์รวมทางการแพทย์สาขาต่างๆมีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนนักศึกษาแพทย์พยาบาลหรือคณะศึกษาศาสตร์อยู่ในที่เดียวกัน และ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่นมีความพร้อมในการขับเคลื่อนโครงการ เพื่อหารูปแบบในการแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้าในตัวครูและนักเรียน เพื่อให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนแห่งความสุข เป็นโรงเรียนนำร่อง ในการทดลอง และแบ่งขนาดของโรงเรียน เป็น โรงเรียนขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก และมีการถอดบทเรียน ทั้งภาพความสำเร็จ และความล้มเหลว

ดร.ศักดา ชัยภัย ผอ. สพม.ขอนแก่น กล่าวว่า ตามที่ได้รับมอบหมายจากนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ สพม.ขอนแก่นจัดทำนวัตกรรมดังกล่าว จึงได้ดำเนินการประชุมและแต่งตั้งคณะทำงานในการแก้ไขปัญหาภาวะซึมเศร้าในนักเรียน ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ และความปลอดภัย ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น ศูนย์สุขภาพจิตที่ ๗ ตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 4 สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น จนเกิดเป็นนวัตกรรมดังกล่าว

เพื่อให้สถานศึกษาในสังกัดทุกแห่งนำไปเป็นนวัตกรรมในการป้องกันและแก้ไขภาวะซึมเศร้าในนักเรียน และเป็นแนวทางให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอื่นๆ โดยนวัตกรรมดังกล่าวชื่อว่า “พร้อมกอดเสี่ยวฮักโมเดล” (PROMPT GHOD SIAO HUGS Model) ซี่งนำจุดแข็งของวัฒนธรรมอีสาน คือ “เสี่ยว” ที่หมายถึง เพื่อนรัก เพื่อนแท้ เกลอ กล่าวคือ บุคลากรทางการศึกษาทุกระดับ ภาคีเครือข่ายทุกองค์กร ในจังหวัดขอนแก่น ที่ร่วมกันมืออย่างเข้มแข็งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะซึมเศร้าในนักเรียน เปรียบเสมือน “เสี่ยว” ที่พร้อมร่วมมือกันในการช่วยเหลือลูกๆนักเรียนให้ห่างไกลจากภาวะซึมเศร้า และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

ข่าวที่น่าติดตาม