22/11/2024

กาฬสินธุ์-ชาวนาไม่ง้อปุ๋ยเคมีราคาแพงหันใช้ปุ๋ยอินทรีย์ลดทุนขายข้าวได้กำไร

พบชาวนาในจังหวัดกาฬสินธุ์หลายราย หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพในนาข้าว ราคากระสอบละ 600 บาท แทนปุ๋ยเคมีราคาแพงกระสอบละ 1,300-1,500 บาท พบว่าได้ผลผลิตสูง ถึงแม้จะขายข้าวเปลือกได้ราคา ก.ก.ละ 8 บาท ก็ยังพอมีกำไร เพราะต้นทุนต่ำกว่าใช้ปุ๋ยเคมี


วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรัง ของชาวนาในเขตใช้น้ำชลประทาน ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาว พื้นที่ ต.นาเชือก ต.บัวบาน ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด, ต.ลำคลอง ต.ลำพาน ต.หลุบ ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมืองกาฬสินธุ์ และ ต.กมลาไสย ต.ดงลิง ต.ธัญญา ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย พบว่ากำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังเต็มพื้นที่ โดยการจ้างรถเกี่ยวข้าวในอัตราไร่ละ 600 บาท ขณะที่ค่าขนส่งข้าวไปขายเที่ยวละ 400-600 บาท ตามระยะทาง อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมีข้าวในนาของเกษตรกรหลายราย ที่ต้นข้าว รวงข้าว ยังดูเขียวอยู่ ยังไม่แก่เต็มที่ ถึงแม้จะได้อายุกว่าเก็บเกี่ยวแล้ว คือประมาณ 120 วัน ตามอายุของพันธุ์ข้าวเบาหรือข้าวนาปรัง


สอบถามนายวินัย ญาณสาร อายุ 60 ปี ชาวนาบ้านโนนแพง ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ เจ้าของแปลงข้าวนาปรัง 20 ไร่ ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว บอกว่า ในการทำนาปรังปีนี้ ตนและชาวนาหลายราย ได้หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพแทนปุ๋ยเคมีที่ราคาแพง เพราะต้องการลดทุนทำนา เนื่องจากแต่เดิมขายข้าว ทั้งนาปีและนาปรังขาดทุนซ้ำซาก โดยสาเหตุหลักเนื่องจากราคาปุ๋ยเคมีราคาแพงกระสอบละ 1,300-1,500 บาท ขณะที่ราคารถเกี่ยวข้าวและราคาน้ำมัน แพงขึ้นทุกปี ตามภาวะราคาน้ำมันที่สูงขึ้น


นายวินัยกล่าวอีกว่า ทุกปีที่ผ่านมาทั้งนาปีและนาปรัง พื้นที่ทำนาของตน 20 ไร่จะใช้ปุ๋ยเคมีถึง 30 กระสอบ แบ่งเป็นปุ๋ยแตกกอ 15 กระสอบ ปุ๋ยรับรวง 15 กระสอบ ราคากระสอบละ 1,300-1,500 บาท คิดเป็นเงิน 39,000-45,000 บาท ผลผลิตข้าวเฉลี่ยไร่ละ 500 ก.ก.ได้ข้าว 10,000 ก.ก. ขายข้าว ก.ก.ละประมาณ 8 บาท บางปี 5-6 บาท ได้เงินประมาณ 80,000 บาท หักค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว ค่าจ้างรถไถ ค่าแรงงาน ค่าสูบน้ำ ค่าขนส่ง บางปีขาดทุน บางปีได้กำไรบ้าง สรุปแล้วได้ผลผลิตไม่คุ้มทุน ในฤดูกาลทำนาปรังปีนี้ จึงหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ราคากระสอบละ 600 บาท ซึ่งราคาถูกกว่าปุ๋ยเคมีมากกว่าครึ่งต่อครึ่ง


นายวินัยกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่ตนใช่ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพเพื่อลดทุนการทำนา พบว่าได้ผลผลิตที่ใกล้เคียงกับปุ๋ยเคมี จะแตกต่างตรงที่ต้นข้าวกับรวงข้าวจะเขียวนาน คือแก่ช้าและเก็บเกี่ยวช้าบ้าง อย่างไรก็ตาม จากการที่ตนเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังในแปลงที่เพาะปลูกก่อน และนำไปขายได้ ก.ก.ละ 8.40 บาท หากคำนวณปริมาณผลผลิต และรายรับรายจ่ายในภาพรวม คาดว่าขายข้าวเปลือกนาปรัง ที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพบำรุงต้นข้าว จะได้กำไรมากกว่าใช้ปุ๋ยเคมี เพราะรวมเงินที่ลงทุนใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ 30 กระสอบ ราคากระสอบละ 600 บาท เป็นเงิน 18,000 บาทเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าใช้ปุ๋ยเคมี 21,000-27,000 บาททีเดียว จึงคาดว่าทำนาปรังปีนี้ ถึงแม้จะขายข้าวเปลือกในราคา ก.ก.ละประมาณ 8 บาท ก็ยังจะได้กำไร เนื่องจากต้นทุนต่ำ โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพแทนปุ๋ยเคมีที่ราคาแพงดังกล่าว

ข่าวที่น่าติดตาม