23/11/2024

นนทบุรี- สช.”-“สธ.”ถอดบทเรียน ‘การมีส่วนร่วมสังคม’

สช.”-“สธ.”จัดวงประชุมยกระดับ “การมีส่วนร่วมของสังคม” เพื่อสุขภาวะ ระดมภาคีหลากภาคส่วนเข้าร่วมแลกเปลี่ยน วิเคราะห์กลไก-ปัจจัยพัฒนาการมีส่วนร่วมในประเทศไทย พร้อมนำไปสู่การจัดทำเป็นข้อเสนอเพื่อพัฒนาระเบียบวาระ “สมัชชาอนามัยโลก” มุ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมในระบบสุขภาพ

 

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดการประชุมปรึกษาหารือเรื่อง “การยกระดับการมีส่วนร่วมของสังคมเพื่อสร้างสุขภาวะ” เพื่อสร้างความเข้าใจต่อ ‘การมีส่วนร่วมของสังคม (Social Participation)’ ในระดับสากล พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์การมีส่วนร่วมของประเทศไทย จากตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน ภาควิชาการ ภาคเอกชน และเยาวชน ทั้งเป็นหน่วยงานด้านสุขภาพและด้านอื่นๆ ที่เข้าร่วมประชุมกว่า 50 คน

สำหรับการประชุมครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์กลไก ‘การมีส่วนร่วมของสังคม’ ที่ประเทศไทยมีในปัจจุบัน รวมทั้งแนวทางการติดตามประเมินผล และปัจจัยที่จะสร้างความยั่งยืน เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอต่อการพัฒนา ‘การมีส่วนร่วมของสังคม’ ในประเทศไทย ยกระดับการมีส่วนร่วมในระดับปฏิบัติการ ไปสู่ระดับการตัดสินใจในระบบสุขภาพ/สุขภาวะ และเพื่อเป็นข้อเสนอต่อองค์การอนามัยโลก (WHO) ในการพัฒนาระเบียบวาระเรื่อง ‘การมีส่วนร่วมของสังคม’ ให้เป็นมติของสมัชชาอนามัยโลก ในอนาคต

ทั้งนี้ หลักการของ ‘การมีส่วนร่วมของสังคม’ ในระบบสุขภาพ ถือเป็นสิ่งที่ประเทศสมาชิก WHO เห็นพ้องร่วมกันถึงความสำคัญ เพราะจะทำให้แผนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพตอบสนองความต้องการของประชาชนมากขึ้น ทำให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมความต้องการของประชากรกลุ่มเฉพาะ ทำให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนช่วยให้การป้องกันและรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขได้รับความร่วมมือจากประชาชน

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ‘การมีส่วนร่วมของสังคม’ ในเชิงระบบสุขภาพของประเทศไทย นับว่ามีการดำเนินในเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน บนหลักการมีส่วนร่วมของ 3 ภาคส่วน คือภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม โดยประเด็นสำคัญของการมีส่วนร่วม คือจะต้องเป็นไปในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับนโยบาย มาถึงในระดับปฏิบัติการ และนอกจากจะมีส่วนร่วมคิด ร่วมขับเคลื่อนแล้ว สิ่งสำคัญคือจะต้องร่วมรับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นได้ด้วย

ทั้งนี้ ตัวอย่างเช่น กลไกของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมีคณะกรรมการ (บอร์ด) ที่มาจากหลายภาคส่วน รวมถึงส่วนของภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง เข้ามาร่วมในการกำหนดนโยบาย ออกแบบทิศทางของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) อันเป็นระบบใหญ่ของประเทศ เช่นเดียวกับกลไกของ สช. ซึ่งมีสมัชชาสุขภาพทั้งในระดับชาติ และระดับพื้นที่ ให้ภาคส่วนต่างๆ ได้เข้ามาร่วมออกแบบนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ไปจนถึงการมีส่วนร่วมในแง่ปฏิบัติการ ซึ่งไทยยังมีกลไกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตลอดจนจิตอาสากลุ่มต่างๆ ตามโรงพยาบาล เป็นต้น

นพ.ประทีป กล่าวว่า การยกระดับการมีส่วนร่วมในสังคมไทย สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศจากการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา ซึ่งชี้ชัดว่าประชาชนทุกกลุ่มวัย ทุกภาคส่วนลุกขึ้นมาส่งเสียงแสดงออก ขอมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตประเทศ ขอมีส่วนร่วมในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศในบริบทต่างๆ โดยที่ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะวันที่ 14 พ.ค. เท่านั้น แต่เป็นการค่อยๆ บ่มเพาะความตื่นตัวของการมีส่วนร่วมที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง

“วันนี้เราจึงต้องการมาถอดบทเรียนของประเทศไทย ในเรื่องการมีส่วนร่วมของสังคม เพื่อมาใช้ในการพัฒนาขับเคลื่อนภายในประเทศ ตลอดจนนำไปแลกเปลี่ยน แบ่งปันในระดับสากล โดยเฉพาะในที่ประชุมใหญ่สมัชชาอนามัยโลก ซึ่งเมืองไทยเรามีวัตถุดิบมากของการมีส่วนร่วมทั้งในระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติการ ที่เราจะถอดบทเรียนเพื่อไปแลกเปลี่ยนในเวทีสากล” นพ.ประทีป กล่าว

ขณะเดียวกัน ภายในการประชุมยังได้มีเวทีเสวนาเรื่อง “การมีส่วนร่วมของสังคม (Social Participation) นำสู่ สังคมแห่งการมีส่วนร่วม (Participatory Society)” โดย นพ.โกเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ สธ. กล่าวว่า ในมุมของระบบบริการสุขภาพนั้น จะขาด ‘การมีส่วนร่วมของสังคม’ ไม่ได้ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ถ้าหากเราไม่มี อสม. กลุ่มท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงประชาชน ที่เข้ามาร่วมดำเนินมาตรการชุมชน คงเป็นการยากที่จะควบคุมโรคระบาดได้

นพ.โกเมนทร์ กล่าวว่า ‘การมีส่วนร่วมของสังคม’ คือหนึ่งในประเด็นที่ สธ. ขับเคลื่อนอย่างหนัก โดยเฉพาะในช่วงหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งตามมาด้วยการเกิด พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ที่มีโจทย์สำคัญคือการมุ่งให้ระดับพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการสุขภาพ ตลอดจนการป้องกันควบคุมโรคมากขึ้น และสุดท้ายแล้วคือการมีส่วนร่วมจากประชาชน ที่จะเข้ามาร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมจัดบริการ โดยเฉพาะการร่วมดูแลสุขภาพตนเอง ลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพต่างๆ

ด้าน นายทรงกลด สว่างวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ช่วยราชการสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) กล่าวว่า พื้นฐานการมีส่วนร่วมของประเทศไทย ถูกวางไว้ผ่านระบบการปกครองในลักษณะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นับตั้งแต่ช่วงปี 2457 หรือสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการกำหนดโครงสร้างของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งถือเป็นผู้นำตามธรรมชาติ และโครงสร้างนี้ยังคงอยู่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ มท. ยังมีเครือข่ายองคาพยพของส่วนราชการที่ลงไปถึงในระดับทุกอำเภอ

นายทรงกลด กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของสังคม ยังมีส่วนในการเสนองบประมาณผ่านช่องทางของจังหวัด หรือกลุ่มจังหวัด ด้วยกลไกของคณะกรรมการที่ประกอบจากหลายภาคส่วน ที่สามารถมาร่วมกันพิจารณาว่าการพัฒนาของจังหวัดจะมุ่งเน้นไปที่อะไร ขณะที่เรื่องของสาธารณสุข ปัจจุบันก็ได้มีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มาอยู่กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่ง มท. โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ก็กำลังเข้ามาดูแลว่าเมื่อถ่ายโอนภารกิจไปแล้ว งบประมาณต่างๆ จะมีการถ่ายโอนอย่างไร.

 

มนสิชา คล้ายแก้ว

ข่าวที่น่าติดตาม