สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดตัวคณะอนุกรรมการชุดใหม่การค้าไทยจีน พร้อมเดินหน้าเชื่อมสัมพันธ์ เตรียมรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดตัวคณะอนุกรรมการชุดใหม่การค้าไทยจีน พร้อมเดินหน้าเชื่อมสัมพันธ์ เตรียมรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการค้าชายแดนและค้าข้ามแดน ด้านจีนตอนใต้ TSC Trade ชุดใหม่ โดยมี นายเชาว์ชัย เจียมวิจิตร เป็นประธานอนุกรรมการ นายชาญวิทย์ มุนิกานนท์ และนางสาวพรทิพย์ สุวรรณ์ เป็นรองประธาน และกรรมการจากธุรกิจหลายภาคส่วน พร้อมที่จะนำทัพคืบการเชื่อมโยงการลงทุนการค้าไทยจีนอย่างเต็มสูบ โดยทางคณะอนุกรรมTSC Trade ได้จัดการประชุมสามัญร่วมกัน ครั้งที่ 1 และจัดเลี้ยงต้อนรับคณะอนุกรรมการชุดใหม่ โดยได้รับเกียรติจากคุณจาง เซี่ยเซี่ย (Ms. Zhang Xiaoxiao) อัครราชทูตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและการค้าสถานทูตจีน (Counselor, Economic and Commercial Office of Chinese Embassy) มาร่วมงาน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องสินธูนาวี 3 ราชนาวีสโมสร
นายเชาว์ชัย เจียมวิจิตร ประธานคณะคณะอนุกรรมการการค้าชายแดนและค้าข้ามแดน ด้านจีนตอนใต้ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศจีนกำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันตก (GO West Policy) เพื่อลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างภาคตะวันออกที่มั่งคั่งกับภาคตะวันตกที่ยากจน และมีจุดมุ่งหมายที่จะเชื่อมโยงจีนกับภูมิภาคอาเซียน โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างไทยและจีนเป็นจุดเริ่มต้น และได้กำหนดให้มหานครฉงเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงภาคกลางกับภาคตะวันตกของจีน และให้มณฑลยูนานเป็นเมืองหน้าด่านของจีนภาคตะวันตกที่จะให้มุ่งหน้าลงใต้เชื่อมโยงกับไทย นอกจากนี้ยังมีมณฑลเสฉวนและเขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกวางสี ซึ่งเป็นมณฑลที่โดดเด่นและมีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่สนใจร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศไทยในการเชื่อมโยงไปยังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนด้วย จึงนับเป็นโอกาสที่ดีของไทยที่จะสร้างความร่วมมือกับจีนในหลากหลายมิติ เช่น เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา และโลจิสติกส์ เป็นต้น
ซึ่งคณะอนุกรรมการการค้าชายแดนและค้าข้ามแดน ด้านจีนตอนใต้ ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการทำงานเพื่อจะเป็นตัวกลางในการรวบรวมข้อมูล ปัญหา อุปสรรคทางการค้า การลงทุน และด้านต่าง ๆ ระหว่างสองประเทศ และเชื่อมโยง ส่งเสริมการค้าระหว่างไทยและจีน โดยเฉพาะจีนตอนใต้ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ“คณะอนุกรรมการการค้าชายแดนและค้าข้ามแดนด้านจีนตอนใต้ชุดใหม่นี้ จะมาจากหลายภาคส่วนธุรกิจ ทั้งด้านอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน การศึกษา การท่องเที่ยว รวมถึงภาคธุรกิจการเงิน ซึ่งนอกจากตัวผมที่เป็นประธานของคณะอนุกรรมการชุดนี้ ก็ยังมีนักธุรกิจคนสำคัญ และที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายจากหลายภาคส่วน ที่จะเข้ามาร่วมกันทำงาน ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าด้วยชื่อเสียง และประสบการณ์ด้านธุรกิจของคณะกรรมการแต่ละท่านในชุดนี้ จะทำให้เราสามารถเดินหน้าขับเคลื่อนการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดน ด้านจีนตอนใต้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคธุรกิจของไทย”
ทางด้าน ดร.กิริฎา เภาพิจิตร สถาบัน TDRI และเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ของคณะอนุกรรมการชุดนี้ ได้ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยและประเทศจีนมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกันอย่างสูงทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ประเทศจีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่เป็นอันดับสองของไทยรองจากสหรัฐ และไทยนำเข้าจากจีนเป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นชิ้นส่วนและวัตถุดิบ ในปีนี้เศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวจากการล็อกดาวน์ประเทศ เนื่องจากโควิด-19 การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนปีนี้ประมาณการว่าอยู่ที่ประมาณ 5% ซึ่งสูงที่สุดในหมู่เศรษฐกิจใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรป หรือญี่ปุ่น ซึ่งปีนี้ชะลอตัวลงจากปีที่แล้ว อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในประเทศจีนก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจใหญ่อื่นๆในโลก ทำให้กำลังซื้อของประชาชนจีนเพิ่มขึ้นในปีนี้ เพราะฉะนั้นโอกาสทางธุรกิจระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนยังมีอีกมาก และมีโอกาสเติบโตได้ในอนาคตในเรื่องของการค้า ทั้งสินค้าและบริการ การลงทุนในประเทศไทย และการท่องเที่ยวของคนจีนในประเทศไทย
นายฉัตรชัย เล่งอี้ อนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า แผนงานที่คณะอนุกรรมการการค้าชายแดนและค้าข้ามแดน ด้านจีนตอนใต้ จะขับเคลื่อนในเบื้องต้นนี้ จะเน้นการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารการตลาด เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างไทยและจีน ผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ของทั้งสองประเทศ เพื่อเน้นการสื่อสารให้ประชาชนได้รู้จักการค้า การลงทุนระหว่างไทยและจีนเพิ่มมากขึ้น โดยจะสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ประชาชนของแต่ละประเทศให้ความนิยม เช่น WeChat โต่วอิน เสี่ยวหงซู เวยป๋อ และโถวเถี่ยว ของจีน ในขณะที่แพลตฟอร์มออนไลน์ที่จะใช้สื่อสารกับคนไทย คือ YouTube และ TikTok เป็นหลัก ร่วมกับการจัดทำเว็บไชต์ 3 ภาษา คือ www.thai-southchina.com