กระทรวงแรงงาน “ร่วมสร้างวัฒนธรรมไทยเชิงป้องกัน สู่ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และความผาสุกที่ยั่งยืน”
กระทรวงแรงงาน “ร่วมสร้างวัฒนธรรมไทยเชิงป้องกัน สู่ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และความผาสุกที่ยั่งยืน”
วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.00 น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ ครั้งที่ 35 และมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณให้แก่สถานประกอบกิจการต้นแบบ ที่ผ่านเกณฑ์พิจารณากิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัย ของ สสปท. จำนวน 84 รางวัล โดยมีผู้บริหารส่วนราชการ ผู้บริหารสถานประกอบกิจการ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงาน เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ณ อาคาร 11-12 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง กล่าวว่า ในปัจจุบันยังมีการประสบอันตรายและโรคจากการทำงานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงแรงงาน จึงได้ผลักดันระเบียบวาระแห่งชาติ “แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี” สู่ระยะที่ 2 (พ.ศ.2560 – 2569) และขับเคลื่อนนโยบาย Safety Thailand เพื่อลดอัตราการประสบอันตรายจากการทำงานให้ได้อย่างยั่งยืน โดยเมื่อพิจารณาเหตุที่เกิดขึ้นจะพบว่า การประสบอันตรายและโรคจากการทำงานมากกว่าร้อยละ 80 มีสาเหตุมาจากตัวผู้ปฏิบัติงานเอง กระทรวงแรงงานจึงมอบหมายให้ สสปท.ซึ่งมีภารกิจหลักในการส่งเสริมและพัฒนางานด้านวิชาการ ดำเนินการศึกษาเครื่องมือในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานที่เหมาะสมกับสถานประกอบกิจการทุกประเภท ตามแนวคิดในการจัดงานครั้งนี้ คือ “ร่วมสร้างวัฒนธรรมไทยเชิงป้องกัน สู่ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และความผาสุกที่ยั่งยืน”
และได้ผลผลิตเป็นชุดค่านิยมร่วมด้านความปลอดภัย MDC ที่เหมาะสมกับสถานประกอบกิจการทุกประเภท ประกอบ ด้วย Mindfulness (สติรู้ตัว) คือ การจดจ่อกับการทำงาน รู้ตัว รู้คิด ทำงานอย่างรอบคอบ ถูกต้อง มีความตระหนัก คำนึงถึงความปลอดภัย และสามารถพิจารณาอันตรายและลดจุดเสี่ยงในการทำงานได้ Discipline (วินัยถูกต้อง) คือ การปฏิบัติอยู่ในข้อบัญญัติ กฎหมาย หรือแนวที่กำหนดอย่างเคร่งครัดเพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัย และ Caring (เอื้ออาทรใส่ใจ) คือ การมีน้ำใจ เอาใจใส่ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมตตาช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน เพื่อร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี และลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดอันตรายและโรคจากการทำงาน ซึ่งชุดค่านิยมนี้ นอกจากจะใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติติงานแล้ว ยังสามารถเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท และส่งเสริมให้สังคมมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอีกด้วย
ด้าน นายสมัย โชติสกุล ประธานกรรมการ สสปท. กล่าวว่า การที่สถานประกอบกิจการได้ดำเนินการสร้างวัฒนธรรมเชิงป้องกัน จะเป็นการสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้เกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการทุกระดับ อันจะนำไปสู้การลดสถิติการประสบอันตรายและโรคจากการทำงานได้ในระยะยาว ส่งผลให้ลดต้นทุนในการผลิตลดลง และสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานได้อย่างยั่งยืน โดยการเสริมสร้างค่านิยมด้านความปลอดภัย เพื่อให้เกิดการปฏิบัติงานในสภาวะที่มีสติรู้ตัวทุกขณะ และสามารถปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ด้วยวินัยที่ถูกต้อง ตลอดจนมีความเอื้ออาทรใส่ใจต่อบุคคลรอบข้างเสมอ
ในส่วน นางบุปผา พันธุ์เพ็ง ผู้อำนวยการ สสปท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ ครั้งที่ 35 (Thailand Safe@Work#35) นั้นมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชนตระหนักถึงความสำคัญ และเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทางวิชาการ พัฒนาแนวคิดด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ภายใต้แนวคิด “ร่วมสร้างวัฒนธรรมไทยเชิงป้องกัน สู่ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และความผาสุกที่ยั่งยืน (Forward Culture of Prevention for Safety Thailand)” โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยการจัดสัมมนาวิชาการทั้งรูปแบบ On Site และ Online ประเด็นการสัมมนา
มีทั้งการบริหารงานด้านความปลอดภัยและยุทธศาสตร์ กฎหมาย และมาตรฐานต่าง ๆ การนำเสนอ Best Practice และนวัตกรรมความปลอดภัยและอาชีวอนามัย นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ และมีการจัดกิจกรรมด้านความปลอดภัยใน 3 พื้นที่กิจกรรม ได้แก่ พื้นที่สุขภาพ (Health Me With T- OSH Zone) พื้นที่แสดงผลงานการศึกษา (Education Zone) และพื้นที่แสดงผลงานนวัตกรรม (Innovation Zone) ตลอดจนการจัดแสดงการสาธิตด้านความปลอดภัยในการทำงานบนที่สูง การช่วยเหลือผู้ประสบอันตรายจากที่สูงและที่อับอากาศ การช่วยฟื้นคืนชีพ และการใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ