23/11/2024

นราธิวาส-รองแม่ทัพภาคที่ 4 ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจ ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดโกดังเก็บพลุ ตลาดมูโนะ

นราธิวาส-รองแม่ทัพภาคที่ 4 ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจ ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดโกดังเก็บพลุ ตลาดมูโนะ

วันนี้ 3 สิงหาคม 2566 เวลา 14.00 น. พลตรี ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการได้เดินทางเยี่ยมให้กำลังใจพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยจากกรณีเหตุโกดังเก็บประทัดและดอกไม้เพลิงระเบิด เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ หมู่ที่ 1 ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส แรงระเบิดกระจายรัศมีเป็นวงกว้าง ทำให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บหลายราย บ้านเรือน ทรัพย์สิน และรถยนต์พังเสียหายจำนวนมาก

โดยรองแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ไปเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยที่ ศูนย์พักพิงชั่วคราว ณ สนามกีฬาเทศบาลมูโนะ พร้อมพบปะพูดคุยประชาชน สอบถามความเป็นอยู่ พร้อมให้กำลังใจ ระบุ เจ้าหน้าที่พร้อมคอยดูแลและอำนวยความสะดวกให้ตลอด ก่อนจะเดินทางไปยังจุดเกิดเหตุและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ กำชับเจ้าหน้าที่ดูแลตัวเองและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเมื่อมีการร้องขอความช่วยเหลือ ทั้งนี้ยังมีน้ำใจจากผู้มีจิตศรัทธาทยอยนำสิ่งของอุปโภคบริโภคมามอบเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างไม่ขาดสาย

พลตรี ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า จากกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางรัฐบาล โดย ฯพณฯท่านนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความห่วงใยและได้มีการสั่งการ ให้กระทรวงมหาดไทยและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งรัด ในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต รวมทั้งในเรื่องของการบูรณะฟื้นฟู เยียวยาความเสียหายให้เร็วที่สุด ในการนี้ผู้บัญชาการทหารบก ได้กรุณาสั่งการให้กองทัพภาคที่ 4 โดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาคที่ 4 จัดตั้งอาวุธและยุทโธปกรณ์มาให้การสนับสนุน ให้กับจังหวัดนราธิวาส โดยมุ่งเน้นในการบูรณะฟื้นฟูขนย้าย หรือเศษซากปรักหักพัง ซึ่งขณะนี้ ทางชุดช่างของศูนย์บรรเทา โดยกองพลทหารราบที่ 15 ได้เข้ามาทำการซ่อมแซม บ้านของผู้ที่ได้รับความเสียหายบางส่วน ซึ่งได้มีความคืบหน้าบ้างแล้ว และได้มีการจัดตั้งรถครัวพระราชทานส่วนหน้า เพื่อทำอาหารสดเลี้ยงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ในเรื่องของการให้บริการทางการแพทย์ ได้มีศูนย์ประสานการแพทย์จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้ามาให้การดูพร้อมมีเฮลิคอปเตอร์เอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน

ซึ่งขณะนี้ภาพรวมของสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็มี กระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีเหตุการณ์ว่า เกิดความผิดพลาดตรงไหนอย่างไร ขอเรียนว่า ในบทบาทของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า มีหน้าที่ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เกิดความสงบสุขต้องยอมรับว่าในห้วง 19 ปีที่ผ่านมา ผู้ก่อเหตุรุนแรงได้ก่อเหตุในการลอบวางระเบิด แสวงเครื่อง เพื่อสร้างความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน ให้กับพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก จากสภาพปัญหาดังกล่าวผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ในฐานะผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้ใช้ อำนาจตามมาตรา 11 (3) และตามประกาศตามมาตรา 11 ของ พรก.ฉุกเฉิน 2548 ได้ออกคำสั่ง เป็นการกำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไข ปัญหาการลอบวางระเบิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ซึ่งในมาตรการดังกล่าวนั้นเรามีมาตรการ ควบคุมทั้งในเรื่องของการ มีไว้ในครอบครองการขนย้าย และการจำหน่าย ซึ่งแต่ละอย่างนั้นมีเจ้าหน้าที่รัฐแต่ละส่วน มีความรับผิดชอบที่แตกต่างกันไป สำหรับในส่วนของบทบาทของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จากการติดตามการนำเสนอข้อมูล ต่างๆในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าสื่อบางสำนัก อาจจะยังมีความเข้าใจที่คาดเคลื่อน ในการออกมาตรการ เพื่อควบคุมในการป้องกันและแก้ไข ปัญหาการลอบวางระเบิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประการแรก คือการกำหนดมาตรการ ควบคุมพลุดอกไม้เพลิงและประทัด ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จะเข้าไปเกี่ยวข้องแค่เฉพาะในเรื่องของการออกมาตรการควบคุมในการขนย้าย ว่าการขนย้ายดังกล่าวนั้นถูกต้อง ตามระเบียบหรือตามใบอนุญาตหรือไม่ โดยจะต้องทำการตรวจสอบใบสั่งซื้อ ของร้านค้าผู้ประกอบการกับยอดที่สั่งซื้อ ตรงกันหรือไม่ จะต้องมีการตรวจสอบใบอนุญาต ของผู้ประกอบการว่ามีใบอนุญาตประกอบการหรือไม่

รวมทั้งมีการตรวจสอบความเชื่อมโยงของบริษัท ว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่หรือไม่ อย่างไรหากทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ตอนนี้ทางผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ก็จะเซ็นอนุญาตให้มีการขนย้าย ดอกไม้เพลิง พลุ ประทัด เข้ามาในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากบริษัทผู้ประกอบการ เพื่อนำเอาไปใช้ในงานประเพณีหรือเทศกาลต่างๆ รวมทั้งบางส่วนจะส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ทั้งนี้ในการขออนุญาต จากการตรวจสอบเอกสารล่าสุดพบว่าได้มีการขออนุญาต เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 และจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มกราคม 2566 รวมระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้กำหนดห้วงเวลา ในการขออนุญาต 6 เดือน/ครั้ง หลังจากนั้นจากการตรวจสอบพบว่ายังไม่มีการขออนุญาต ในการขนย้าย เข้ามาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับในเรื่องของมาตรการอื่นๆ มาตรการควบคุมมีไว้ในครอบครอง และการจำหน่ายก็เป็นหน้าที่ของ นายทะเบียนท้องที่ที่จะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการต่อไป

อีกประการหนึ่งก็คือ เรื่องของการกำหนดมาตรการควบคุม สารตั้งต้นหรือสิ่งอุปกรณ์ที่นำมาใช้ ในการประกอบวัตถุระเบิด ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ใช้ประกาศฉบับเดียวกันในการออกมาตรการ ในการควบคุมวัตถุระเบิดเหล่านี้ด้วย โดยขั้นตอนในการควบคุม ก็คือ ตั้งแต่ผู้ประกอบการ จะต้องมีการขออนุญาตมีไว้เพื่อครอบครอง และใช้งานกับทางจังหวัด ซึ่งทางอุตสาหกรรมจังหวัดก็จะมีการรับรองปริมาณ ของแต่ละบริษัทว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร จากนั้นก็จะผ่านขั้นตอนกลั่นกรองจากคณะกรรมการ ของจังหวัด และจะส่งมาให้กับทางผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ให้ความเห็นชอบก่อนที่จะแจ้งมายังกระทรวงมหาดไทย เพื่ออนุมัติทำการสั่งซื้อ สำหรับขั้นตอนในการขนเข้ามายังพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เช่นเดียวกันก็คือจะต้องมีการขออนุญาตต่อ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เนื่องจากว่าจะต้องขนย้ายเข้ามาในพื้นที่ที่มีการ ประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน 2548

สำหรับในเรื่องของ การเก็บรักษาวัตถุระเบิดจะต่างจาก ประทัดและดอกไม้เพลิง วัตถุระเบิดเข้าได้มีการออกกฏหมายอย่างชัดเจน ว่าสถานที่จะต้องใช้ในการเก็บ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสถานที่ราชการ คลังเก็บของวัตถุระเบิดในค่ายทหาร ของตำรวจตระเวนชายแดนหรือกองร้อย อส. เมื่อมีการเบิกไปใช้ก็ต้องมีการชี้แจงสถานภาพทุกครั้ง เพราะฉะนั้น จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ซึ่งที่ผ่านมา อาจจะมีการนำเสนอข้อมูลที่มีการ คลาดเคลื่อนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งทางเราก็จะมีการแบ่งเป็น 2 ภาค ภาคที่ 1 คือ ดอกไม้เพลิง พลุ และประทัด คือ เป็นไปตามระเบียบ และแนวทางที่ได้มีการกำหนดไว้ เป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนท้องที่ ที่จะต้องเป็นผู้อนุญาตให้มี ไว้ครอบครองหรือเพื่อจำหน่าย สำหรับในบทบาทหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า มีอำนาจเพียงแค่ขออนุญาต ให้มีการขนย้ายเข้ามาในพื้นที่ ประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินเท่านั้น ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สอบสวนสืบสวน รับผิดชอบในการตรวจสอบ

รวมทั้งได้มีการตรวจสอบในเรื่องของความถูกต้อง ในเรื่องของข้อกฎหมายต่างๆที่จะดำเนินการ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งอำนาจในการมีไว้เพื่อครอบครอง และจำหน่ายเป็นอำนาจของนายทะเบียนท้องที่ แต่ในฐานะที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า มีหน้าที่รับผิดชอบ ความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากได้รับรายงานว่ามีกลุ่มบุคคล ที่ได้กระทำการฝ่าฝืน คำสั่งของเจ้าพนักงานตาม พรก.ฉุกเฉิน เราก็มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปทำการตรวจสอบ สำหรับมาตรการในการสกัดกั้นตามแนวชายแดน จริงๆแล้วโดยอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เรามีกองร้อยป้องกันชายแดน ที่รับผิดชอบอยู่แล้วก็จะมุ่งเน้นในการสกัดกั้น ทั้งบุคคล กลุ่มบุคคล ที่ลักลอบนำสินค้าหนีภาษีสิ่งผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นในกรณีในการลักลอบขนย้ายดอกไม้เพลิงหากได้รับการประสาน จากนายทะเบียนท้องที่เจ้าหน้าที่ก็จะ ต้องดำเนินการซึ่งที่ผ่านมา เราก็ได้มีการวางกำลังและเครื่องมือในการ สกัดกั้นตามแนวชายแดน เพียงแต่ว่า มุ่งเน้นในเรื่องของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ทั้งการแอบลักลอบขนย้ายอาวุธกระสุน และวัตถุระเบิดมากกว่า ที่จริงแล้วหากเรามองแค่ดอกไม้เพลิงและประทัดจริงๆแล้ว เป็นสิ่งที่เขาใช้ในงานประเพณีหรือเทศกาลต่างๆ เพียงแต่ว่าปริมาณที่เขาครอบครองมีจำนวนมาก จึงนำมาสู่ความสูญเสียในครั้งนี้

ทั้งนี้ ผู้ที่ประสงค์จะให้ความช่วยเหลือบริจาคสิ่งของ สามารถบริจาคได้ที่ จุดรับบริจาคหน้าบริเวณถนนข้างนอกจุดเกิดเหตุฯ หรือร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยมูโนะบัญชีหนึ่งเดียวของจังหวัดนราธิวาส ชื่อบัญชี “เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯมูโนะ” ธนาคารกรุงไทย สาขานราธิวาส เลขที่บัญชี 905-3-66122-0
ข่าว.แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

ข่าวที่น่าติดตาม