23/11/2024

“พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม ประชุมขับเคลื่อน พ.ร.บ.ป้องกันทรมานและอุ้มหายฯ ชี้ ประชาชนจำนวนมากฝากความหวังไว้สูง

“พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม ประชุมขับเคลื่อน พ.ร.บ.ป้องกันทรมานและอุ้มหายฯ ชี้ ประชาชนจำนวนมากฝากความหวังไว้สูง

วันที่ 19 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าว รายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ครั้งที่ 2/2566 ณ ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม 10-01 ชั้น 10 อาคารกระทรวงยุติธรรม

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเป็นการรายงานผลการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 และเพื่อพิจารณาร่างระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายว่าด้วยการบันทึกภาพและเสียงในขณะจับและควบคุม การแจ้งการควบคุมตัว และการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว พ.ศ. 2566 และ พิจารณาร่างแบบบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2515 (ปท.1)

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว ระหว่างการประชุม ตอนหนึ่งว่า “พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พรก.ฉุกเฉิน ถ้าไปถามข้าราชการ ข้าราชการก็อยากจะได้ แต่ถ้าไปถามประชาชน ภาคประชาสังคม หรือท่านนายกฯ ก็จะเป็นประเด็น สำหรับประชาชนในภาคใต้ กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เวลาจับตามกฎอัยการศึก 7 วัน แล้วจากนั้นก็ไปอยู่ พรก.ฉุกเฉิน อีก 30 วัน พอพ้น 37 วัน ก็ไปเริ่มเหมือนคนอื่น ไปเริ่มประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิ.อาญาฯ”

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า “คราวนี้ ในกระบวนการ 7 วัน หรือ 30 วัน การค้นหาความจริงที่สำคัญ คือ ส่วนใหญ่แล้วมีผู้ได้รับผลกระทบมากมาย ส่วนที่รัฐบาลจะต่อเวลาเนื่องจาก ครม. เราเข้ามาเร็วไป ถ้าจะต่อก็ควรจะต่อสักเดือนเดียว แล้วเมื่อจะครบระยะเวลาเดือนเดียว ก็ให้คณะ หรือให้รองนายกฯ ที่เป็นประธาน ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหน่วยงานความมั่นคง ลองประเมินดูว่า พอครบเดือนแล้ว จะต้องยกเลิกหรือไม่ ? หรือจะทยอยยกเลิกตามแผน ในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งจะอีกนาน ก็อยากให้พิจารณา และก็ พระราชบัญญัติเรื่องความมั่นคงที่ออกมาหลังปี พ.ศ.2551 ซึ่งตอนนั้นออกมาเพื่อจะยกเลิก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็เหมือนว่าออก พรก.ฉุกเฉิน เพื่อยกเลิกกฎอัยการศึก ยิ่งออกยิ่งใช้คู่กันไปหมด ก็เลยต่อ และท่านนายกฯ ก็จะให้ยกเลิกที่กะพ้อ 1 อำเภอ แค่เดือนเดียว และในอีก 1 เดือน คงจะต้องมาพิจารณาว่าควรจะต่อหรือไม่ ?”

“แต่เมื่อเกิด พระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ก็อยากให้พิจารณาดูว่า มันจะมีศักดิ์สูงกว่า กฎอัยการศึก หรือ พรก. ฉุกเฉิน หรือไม่ ? เพราะว่าสิ่งที่ถูกทำให้มองว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ อย่างการเอาตัวไป 37 วัน เพื่อไปค้นหาความจริงจากผู้ที่จะถูกจับ ให้เขารับสารภาพ ให้เขาเล่าเรื่องพยานหลักฐาน เมื่อ พระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเกิดขึ้นมา กฎหมายใหม่ จะมายกเลิกกฎหมายเก่าหรือไม่ ฝากช่วยพิจารณาครับ”

“ซึ่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย นั้น ประชาชนฝากความหวังไว้สูง ดังนั้นกฎหมายจะดีแค่ไหน ถ้าผู้ปฏิบัติหรือผู้ที่เกี่ยวข้องไม่มีความรับผิดชอบ หรือไม่จริงจัง หรือไม่สัตย์ซื่อต่อการปฏิบัติตามกฎหมาย มันจะเหมือนกฎหมายดี ๆ จำนวนมาก ที่เกิดมาแล้วไม่ได้ใช้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่คาดหวังของประชาชนครับ” พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว

 

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

ข่าวที่น่าติดตาม