23/11/2024

“รมช.คลัง” ออกโรง สั่งธนารักษ์ เร่งแก้ปัญหาตัดไม้พะยูง ในพื้นที่ราชพัสดุทั่วประเทศ

“รมช.คลัง” ออกโรง สั่งธนารักษ์ เร่งแก้ปัญหาตัดไม้พะยูง ในพื้นที่ราชพัสดุ เป็นการด่วน พร้อมสั่งสอบสวนขยายผลย้อนหลังตั้งแต่ที่เป็นข่าว มอบหมายผู้ตรวจฯ เป็นประธาน สั่งกำชับแนวทางปฏิบัติ ตัดไม้มีค่า และห้ามเข้าไปเป็นกรรมการประเมินราคาไม้และเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวแบบยั่งยืน สั่งสำรวจฐานข้อมูล “ไม้มีค่า” ในพื้นที่ราชพัสดุทั่วประเทศ

 

วันที่ 3 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงาน ความคืบหน้ากรณีลักลอบตัดไม้พะยูงในที่ราชพัสดุ และให้อนุญาตตัดไม้พะยูงในโรงเรียนที่เกิดขึ้นใน จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.66 เป็นต้นมา โดยมีเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นในรอบเดือน ส.ค.-ก.ย.หลายครั้ง รวมทั้งชาวบ้านได้แจ้งเบาะแสการตัดไม้พะยูงย้อนหลัง มาที่ฝ่ายความมั่นคง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งพบว่ามีถึง 12 แห่ง ไม้พะยูงถูกตัดไปกว่า 61 ต้น


ล่าสุด นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาแถลงแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีการตัดไม้พะยูงในที่ราชพัสดุ โดยเป็นหนังสือข่าวกรมธนารักษ์ ฉบับที่ 14/2566 วันที่ 2ตุลาคม 2566 ว่าตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าว และภาพข่าวกรณีการลักลอบตัดไม้พะยูงในสถานีเพาะชำกล้าไม้จังหวัดกาฬสินธุ์ และมีการขนย้ายไม้พะยูงในส่วนที่เหลือจากการลักลอบตัดมาเก็บไว้ที่หน้าสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ ต่อมาไม้ดังกล่าวได้สูญหายไป และกรณีการตัดไม้พะยูงในเขตโรงเรียนคำไฮวิทยา รวมถึงภาพข่าวหลักฐานการเจาะต้นไม้พะยูงในโรงเรียนโคกกลางเหนือ กระทรวงการคลังได้สั่งการและเร่งรัดให้กรมธนารักษ์ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้ดำเนินการสำรวจ ตรวจสอบข้อมูลไม้พะยูงที่อยู่ในที่ราชพัสดุทุกพื้นที่ทั่วประเทศ


ข้อเท็จจริงที่ผ่านมากรมธนารักษ์ได้มีหนังสือเวียนที่ กค 0305/ว20 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 เรื่องการตัดไม้ในที่ราชพัสดุ โดยให้ผู้ใช้ที่ราชพัสดุสามารถดำเนินการได้เท่าที่จำเป็น เช่น (1) กีดขวางการใช้พื้นที่เพื่อปลูกสร้างอาคาร (2) กีดขวางสายไฟฟ้า (3) ต้นไม้อาจโค่นล้มเป็นอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน และ (4) เป็นการตัดแต่งกิ่งไม้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสวยงาม ซึ่งกรมธนารักษ์ยังได้มีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจ กรณีการตัดต้นไม้ในที่ราชพัสดุให้สอดคล้องกับนโยบายของทางราชการ ที่ให้ทุกหน่วยงานมีการอนุรักษ์ต้นไม้และป่าไม้ในเขตพื้นที่ราชพัสดุ โดยให้หลีกเลี่ยงการตัดต้นไม้ใหญ่ ยกเว้นการณีที่มีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่มิอาจหลักเลี่ยงได้ โดยให้ผู้ใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดอีกด้วย


รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้กรมธนารักษ์แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน และเร่งรัดให้ดำเนินการตรวจสอบ สืบสวนกรณีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงแรกที่ปรากฏเป็นข่าว โดยให้สืบในทางลับ และลงพื้นที่เพื่อจัดการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีนางวิไลรัตน์ อักษรพันธ์ ผู้ตรวจราชการกรมธนารักษ์ เป็นประธาน เพื่อเก็บข้อมูลและตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ได้ประชุมทางไกลออนไลน์กับสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ทั่วประเทศ สั่งกำชับแนวทางสำหรับวิธีปฏิบัติเพื่อสร้างความเข้าใจ เรื่องการห้ามตัดไม้มีค่าในที่ราชพัสดุ รวมถึงห้ามเข้าไปมีส่วนร่วมในการประเมินราคาด้วย

โดยจะต้องอยู่ในฐานะเป็นผู้ตรวจสอบดูแลเท่านั้น เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างถูกต้องตามนโยบายของกรมธนารักษ์ เรื่อง การตัดไม้ในที่ราชพัสดุ อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวและป้องกันปัญหาการตัดไม้มีค่าในที่ราชพัสดุ จึงได้มอบนโยบายและสั่งการให้กรมธนารักษ์ ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลไม้มีค่าในที่ราชพัสดุทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยให้กรมธนารักษ์ และสำนักงานธนารักษ์พื้นที่มีข้อมูล ข้อเท็จจริง สำหรับเป็นแนวทางตรวจสอบให้ส่วนราชการในพื้นที่ สอดส่องดูแลไม้มีค่าในที่ราชพัสดุอย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ ส่วนราชการหากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมธนารักษ์ โทร. 022739020 ต่อ 3613


ขณะที่นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบเชิงลึก และหัวหน้าชุดเฉพาะกิจตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียน จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกดีใจที่ทางรัฐบาล และกระทรวงการคลัง โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งได้มีหนังสือสั่งการแก้ไขปัญหากรณีการตัดไม้พะยูงในที่ราชพัสดุดังกล่าว ที่จะส่งผลดีให้มีการแก้ไขปัญหา และการปฏิบัติในภาพรวมที่ชัดเจน ในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรต้นไม้ โดยเฉพาะไม้หวงห้าม ไม้มีค่า ที่ต้องช่วยกันรักษาไว้ ให้เป็นแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ ทั้งนี้ ถือได้ว่า จ.กาฬสินธุ์ จะเป็นโมเดลในการป้องกันปัญหาการตัดไม้ในที่ราชพัสดุต่อไป

ข่าวที่น่าติดตาม