ลำพูน – จังหวัดลำพูนพบผู้ป่วยฝีดาษวานรรายแรก ด้านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยืนยัน สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เน้นย้ำประชาชนให้ระมัดวังและป้องกันตนเอง
ลำพูน – จังหวัดลำพูนพบผู้ป่วยฝีดาษวานรรายแรก ด้านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยืนยัน สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เน้นย้ำประชาชนให้ระมัดวังและป้องกันตนเอง
นายแพทย์ สุริยพงณช์ สุริยะพงฑากุล นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน ) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำพูน รักษาราชการการแทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำพูน เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคฝีดาษวานร(ฝีดาษลิง)ของจังหวัดลำพูน ว่า ในวันที่ 2 ตุลาคม 2566 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูนได้รับแจ้งจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ว่า พบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร(ฝีดาษลิง) เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1 ราย โดยผู้ติดเชื้อมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดลำพูน เป็นเพศชาย อายุ 36 ปี มีประวัติเสี่ยงคือ ในช่วงสัปดาห์ที่แล้วผู้ติดเชื้อได้ไปเที่ยวสถานบันเทิงในจังหวัดเชียงใหม่ และได้มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน เริ่มมีอาการป่วยและได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ขณะนี้อยู่ระหว่างการรักษาจากโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ อาการโดยทั่วไปไม่รุนแรง
ทั้งนี้ ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน(สสจ.ลำพูน) และโรงพยาบาลลำพูน ได้ทำการสอบสวนและควบคุมโรคในพื้นที่ โดยมีแพทย์ระบาดวิทยาของโรงพยาบาลลำพูน เป็นผู้ทำการเฝ้าระวังและจะติดตามอาการกลุ่มเสี่ยงในครอบครัว ไปจนครบ 21 วันตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข(ส่วนผู้สัมผัสในสถานบันเทิง ทาง สสจ.เชียงใหม่จะเป็นผู้ติดตามสอบสวนควบคุมโรค) แต่เนื่องจากผู้ติดเชื้อขอไม่ให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวตามสิทธิ์ผู้ป่วย จึงไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้..
สำหรับ “โรคฝีดาษวานร” หรือ ฝีดาษลิง(Monkeypox) เป็นโรคติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรงเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Orthopoxvirus ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษหรือโรคไข้ทรพิษ ส่วนใหญ่พบในหลายพื้นที่ของแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ไม่ร้ายแรงและมีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ แต่มักพบในเด็กเล็กเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องหมั่นสังเกตและดูแลอย่างใกล้ชิด และโรคฝีดาษลิงสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้จากการสัมผัสทางผิวหนัง สารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ หรือวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส แต่โรคนี้เราสามารถเฝ้าระวังได้ง่าย เพราะผู้ป่วยติดเชื้อจะมีตุ่มขึ้นตามร่างกายเป็นรอยโรคที่สังเกตได้ชัดเจน อาการที่ควรเฝ้าระวังของโรคฝีดาษลิงอาการของโรคจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อแล้วประมาณ 7-14 วัน มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกายต่อมน้ำเหลืองโต หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน จะมีตุ่มเล็กๆ คล้ายผื่นขึ้นตามตัว
ตุ่มเหล่านี้จะอักเสบและแห้งไปเองใน 2-4 สัปดาห์ โดยมีการเปลี่ยนแปลงตามลำดับ ดังนี้ มีตุ่มนูนแดงคล้ายผื่น ภายในตุ่มมีน้ำใสอยู่ภายใน รู้สึกคัน แสบร้อน ตุ่มใสกลายเป็นหนอง เมื่ออาการรุนแรงขึ้น ตุ่มหนองเหล่านั้นจะแตกออกและแห้งไปเอง อาจมีอาการท้องเสีย อาเจียน เจ็บคอ ไอ หอบเหนื่อยร่วมด้วย บางรายที่ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีโรคประจำตัวอาจมีภาวะแทรกซ้อนทำให้อาการรุนแรงอันตรายถึงชีวิตได้
พร้อมกันนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน แนะแนวทางป้องกันให้ประชาชนศึกษาข้อมูลและระมัดวังป้องกันตนเองและคนในครอบครัวให้ปลอดภัยจากโรคฝีดาษลิง โดยหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์หลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยงหรือสิ่งต่าง ๆ สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยงการแพร่ระบาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยหรือสัตว์ที่อาจเป็นพาหะของโรค และการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้
กรรณิการ์ วิจิตรสกลการ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดลำพูน