24/11/2024

ตรัง-ม.อ.ตรัง ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นพัฒนา “ต้นจากทะเล” สู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง

ตรัง-ม.อ.ตรัง ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นพัฒนา “ต้นจากทะเล” สู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง

 

อาจารย์ณฐ ย่าหลี รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและองค์กรสัมพันธ์ คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง เปิดเผยว่า ในพื้นที่บางชุมชนของจังหวัดตรัง เช่น อำเภอกันตัง มีการนิยมการสูบบุหรี่ใบจากอย่างแพร่หลาย และยังเป็นแหล่งผลิตมวนบุหรี่ใบจากที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอีกด้วย ซึ่งแม้ส่วนหนึ่งมองถึงปัญหาทางสุขภาพ แต่ในส่วนของการผลิตใบจากนั้นคือรายได้ที่ส่งเสริมเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ และพบว่าส่วนอื่นของต้นจากสามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย

“ชมรมรากแก้ว วิทยาเขตตรัง” ได้มีแนวคิดในการนำ “ขยะทางจาก” ที่เหลือจากกระบวนการผลิตมวนยาสูบ ไปแปรรูปเป็น “กระดาษจาก” และเมื่อพบว่าส่วนอื่นๆ ของต้นจากก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ จึงมีการนำองค์ความรู้และทฤษฎีจากห้องเรียนสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมชุมชนในการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบจากต้นจากให้มีมูลค่าสูงขึ้น จึงเป็นที่มาของโครงการ “จาก” วิถีชีวิต สู่เศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีวัสดุตั้งต้นมาจาก “ต้นจากทะเล Nypa palm” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เยาวชนได้ใช้สมรรถนะการอยู่ร่วมกันในสังคมโลก มีการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาตนเองระหว่างชุมชนและมหาวิทยาลัย ที่ก่อให้เกิดการส่งเสริมกิจกรรมด้านพัฒนาความร่วมมือ องค์ความรู้ นวัตกรรม และงานวิจัย เพื่อเพิ่มโอกาสในการร่วมงานวิชาการกับมหาวิทยาลัยนานาชาติ ตามเป้าหมาย SDGs โดยใช้ “ต้นจาก” เป็นสื่อในการเชื่อมโยงไปสู่ความร่วมมือต่าง ๆ

ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา นักศึกษาของวิทยาเขตตรังได้เข้าพัฒนาพื้นที่เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ร่วมกับชุมชนมาแล้ว 3 ระยะ 3 โครงการ คือ ระยะที่ 1 พ.ศ. 2554-2556 โครงการ “จาก” วิถีชุมชนสู่เศรษฐกิจภูมิภาค โครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนกระดาษจาก ระยะที่ 2 พ.ศ. 2564- 2566 โครงการ “จาก” วิถีชีวิต…สู่เศรษฐกิจชุมชน โครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีวัสดุตั้งต้นมาจาก “ต้นจากทะเล NyPa Palm” และ ระยะที่ 3 พ.ศ. 2566-2567 โครงการ“จาก …สู่ดิน ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีวัสดุตั้งต้นจาก “เส้นใยจากทางจาก”  ทำให้ได้สร้างการรับรู้และเสริมทักษะให้แก่ชุมชน เกิดการพัฒนา “ผลิตภัณฑ์จักสานก้านจาก บ้านนายอดทอง” พร้อมทั้งขยายพื้นที่ร่วมพัฒนาเป็น 7 ชุมชน 7 กลุ่มผลิตภัณฑ์ และเป็นความคิดที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต “ผู้เสพและผู้ผลิต” มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นที่มูลค่าสูงกว่า เพื่อเปลี่ยนวิถีผู้เสพให้เป็น “ผู้รังสรรค์ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง”

จากผลสำเร็จจากโครงการ “จาก” วิถีชีวิต สู่เศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมผลิตภัณฑ์จาก “ต้นจากทะเล Nypa Palm” ทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ได้รับรางวัลโครงการพัฒนาดีเด่นทางเศรษฐกิจ ในงาน “2023 Rakkaew Foundation National Exposition University Sustainability Showcase” งานแสดงผลงานและนำเสนอโครงการพัฒนาที่ยั่งยืนของนิสิตนักศึกษา ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 8 – 9 กันยายน 2566 ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น G ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ จัดโดยมูลนิธิรากแก้ว เพื่อส่งเสริม สนับสนุน สร้างกระบวนการ เตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้เป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่เข้าใจปัญหาสังคม และมีจิตสำนึกในการช่วยเหลือสังคม

ข่าวที่น่าติดตาม