23/11/2024

กาฬสินธุ์นายกลุยแก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง พนังกั้นน้ำชีทรุดตัวในพื้นที่กาฬสินธุ์

“เศรษฐา ทวีสิน”นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ลุยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และป้องกันปัญหาพนังกั้นแม่น้ำชีทรุดตัวในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์

 

วันที่ 2 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยในช่วงเช้าเวลา 10.45 น.เข้าติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้ากุดแคน ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ โดยมีนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม นายสนั่น พงษ์อักษร ผวจ.กาฬสินธุ์ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 นายพลากร พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 2 นายทินพล ศรีธเรศ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 5 นายประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 6 นายชูชาติ รักจิตร อธิการบดีกรมชลประทาน นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายกอบจ.กาฬสินธุ์ นายเดช เล็กวิชัย รองอธิการบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยส.ส.ภาคอีสาน ส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้นำหมู่บ้าน และประชาชนรายงานสภาพปัญหาและให้การต้อนรับ


โดยนายกรัฐมนตรีได้เข้ารับฟังบรรยายสรุปการนำเสนอโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งจากกรมชลประทานก่อนจะเดินพบปะประชาชนที่มาให้การต้อนรับ
ทั้งนี้จากสภาพปัญหาอุทกภัยบริเวณพื้นที่เพาะปลูกโดยรอบกุดวังซอ, กุดกว้างน้อย,กุดกว้างใหญ่ และกุดแคน (กุดขวาง) ซึ่งเป็นพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวนั้น เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี บริเวณสองฝั่งลำห้วยเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากกว่า 20,000 ไร่ สาเหตุมาจากระดับน้ำในลำน้ำชีมีระดับสูง ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำพื้นที่ด้านในออกลงสู่แม่น้ำชีได้


ดังนั้นทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จ.กาฬสินธุ์ จึงได้เสนอโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย บริเวณพื้นที่ บ.แจ้งจม ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ให้สำนักชลประทานที่ 6 พิจารณาศึกษาโครงการ และเห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำถาวร เพื่อสูบน้ำออกจากพื้นที่ชลประทานไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่ในฤดูน้ำหลากเมื่อปีพ.ศ. 2552 ทำการก่อสร้างปี 2563 และก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2565 ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับสามารถช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วม และป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่


อย่างไรก็ตามปัจจุบันเกิดปัญหาแหล่งน้ำมีสภาพตื้นเขิน และมีวัชพืชปกคลุมจำนวนมาก ทำให้น้ำไหลเข้าไม่สะดวก และไม่สามารถระบายน้ำได้ทันในช่วงหน้าฝน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งเรื่องดังกล่าวประชาชน และผู้นำหมู่บ้านได้ร้องขอเข้ามายังหน่วยงานของกรมชลทาน และ นายทินพล ศรีธเรศ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 5 นำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมสภาฯ เพื่อให้ช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และติดตามการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการขุดลอกแก้มลิงกุดกว้างน้อย งบประมาณ 24 ล้านบาท แก้มลิงกุดกว้างใหญ่ พร้อมก่อสร้างอาคารประกอบ งบประมาณ 61 ล้านบาท และกำจัดวัชพืชในกุดแคนโดยเครื่องจักร งบประมาณ 5 ล้านบาท เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งให้กับประชาชน และระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงฤดูฝน


จากนั้นเวลา 11.30 น.นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางไปติดตามการแก้ไขปัญหาพนังกั้นลำน้ำชีทรุดตัว ที่บริเวณพนังกั้นลำน้ำชีชั่วคราวกม.ที่ 2 บ้านโนนแดง ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ โดยมีนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม นายพลากร พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 2 พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมทางหลวงชนบท และประชาชนในพื้นที่รายงานสภาพปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากพนังกั้นน้ำชีทรุดตัวทำให้ปริมาณน้ำเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือน และพื้นที่การเกษตรของประชาชนทุกปี โดยเฉพาะในปี 2565 ส่งผลให้เกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้างพื้นที่เกษตรกรเสียหายหลายหมื่นไร่ และมีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบหลายพันหลังคาเรือน ซึ่งทำให้พี่น้องประชาชนเกิดความวิตกกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นอีก

 

จึงทำให้นายพลากร พิมพะนิตย์ หรือ ส.ส.บอล เขต 2 นำเรื่องปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าวเข้าหารือในประชุมสภาฯ เพื่อแก้ไขปัญหา ก่อนที่นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนชาวกาฬสินธุ์ และพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ และลงพื้นที่มารับปัญหา และกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาให้กับประชาชน
โดยในวันนี้ได้เสนอโครงการแก้ไขปัญหาคันทางพังทลายและป้องกันน้ำท่วม ซึ่งเป็นการก่อสร้างพนัง เพื่อป้องกันคันทาง หรือพนังแม่น้ำชีพังทลายจากกระแสน้ำชีกัดเซาะคันทางความยาว 425 เมตร งบประมาณกว่า 51 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ อ.กมลาไสย และอ.ฆ้องชัย ป้องกันความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรกว่า 100,000 ไร่ และระบบสาธารณูปโภคบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ภายหลังจากนายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่และรับฟังปัญหาทั้ง 2 จุด โดยนายกฯระบุว่าวันนี้มาดูการขุดลอกการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และการก่อสร้างพนัง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี
อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นภารกิจในช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีได้รับประทานอาหารที่ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ และในช่วงบ่ายเวลา 13.15 น.มีกำหนดการลงพื้นที่บึงอร่าม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เพื่อหารือการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแลนด์มาร์ค และจุดแวะพักของ จ.กาฬสินธุ์ และ เวลา 14.15 น.เดินทางไปประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือประเด็นปัญหาและแผนพัฒนา จ.กาฬสินธุ์ ที่ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ และในช่วงเวลา 15.45 น.จะลงพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยส้มป่อย ต.นาขาม อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อหารือประเด็นการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ และใช้สำหรับการอุปโภค บริโภคให้กับประชาชน

ข่าวที่น่าติดตาม