พิษณุโลก อบจ.พิษณุโลก จัดโครงการ อปท.ต้นแบบ จัดการน้ำตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ธนาคารน้ำใต้ดิน) นำร่องแก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม 5 จุด ในพื้นที่ อ.บางระกำ -อ.พรหมพิราม
พิษณุโลก อบจ.พิษณุโลก จัดโครงการ อปท.ต้นแบบ จัดการน้ำตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ธนาคารน้ำใต้ดิน) นำร่องแก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม 5 จุด ในพื้นที่ อ.บางระกำ -อ.พรหมพิราม
วันที่ 22 มีนาคม 2567 นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก มอบหมายให้ นายอนุพันธ์ เนียมสกุล ผู้อำนวยการกองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการจัดทำโครงการ อปท.ต้นแบบ จัดการน้ำตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ธนาคารน้ำใต้ดิน) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่บริเวณโรงเรียนวัดคุยขวาง หมู่ที่ 2 บ้านคุยขวาง ตำบลคุยม่วง อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ตามคำร้องขอจากทางโรงเรียนวัดคุยขวาง ซึ่งมีระดับความลึก 5 เมตร และถือเป็นธนาคารน้ำใต้ดินจุดที่ 2 ที่ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้ดำเนินการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินให้กับทางโรงเรียน
โดยวันนี้เจ้าหน้าที่ได้ช่วยกันนำทรายและหินเทใส่บริเวณรอบปากบ่อซึ่งเป็นข้้นตอนสุดท้ายของการดำเนินงานก่อนปิดบ่อ พร้อมทั้งได้ส่งมอบธนาคารน้ำใต้ดินนี้ให้กับทางโรงเรียนวัดคุยขวาง โดยมี นางกมลวรรณ ทาบาง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดคุยขวางพร้อมผู้ปกครองและนักเรียนร่วมรับมอบ ซึ่งจากผลการดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินที่ผ่านมาสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังภายในโรงเรียนในช่วงฤดูฝนและน้ำไหลหลากได้อย่างรวดเร็วจึงไม่ส่งผลกระทบทำให้ครูและนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 จนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 78 คน ได้รับความเดือดร้อน
สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้ตั้งเป้าหมายดำเนินการจัดทำต้นแบบธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ระหว่างวันที่ 18-27 มีนาคม 2567 จำนวน 5 จุด ได้แก่ โรงเรียนบ่อวิทยบางระกำ หมู่ที่ 7 บ้านบางระกำ ตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ จำนวน 2 จุด ที่ระดับความลึก 15 เมตร, โรงเรียนวัดคุยขวาง หมู่ที่ 2 บ้านคุยขวาง ตำบลคุยม่วง อำเภอบางระกำ จำนวน 1 จุด ที่ระดับความลึก 5 เมตร และโรงเรียนราษฎร์สามัคคี หมู่ที่ 10 บ้านวังขี้เหล็ก ตำบลท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม จำนวน 2 จุด ที่ระดับความลึก 11 เมตร
ทั้งนี้เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการช่วยแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมขังในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก โดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ให้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน ได้มีความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างรายได้ให้กับประชาชน รวมทั้งช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมโดยการสร้างโอกาสให้คนยากจนได้ใช้ประโยชน์จากน้ำและดินสู่แปลงเกษตรผสมผสานด้วยการพึ่งพาตนเอง ตลอดจนเพื่อพัฒนายกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพื้นที่เป้าหมายเป็นศูนย์เรียนรู้ อปท.ต้นแบบ จัดการน้ำตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ธนาคารน้ำใต้ดิน) เป็นแบบอย่างและขยายผลการพัฒนาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานอื่นต่อไป.
ธันย์ชนก ทองเพิ่ม ผู้สื่อข่าวพิษณุโลก