สระบุรี/จัดงานรัฐพิธีเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สระบุรี/จัดงานรัฐพิธีเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้นำ ข้าราชการพลเรือน ตุลาการ ทหาร ตำรวจ และประชาชนชาวจังหวัดสระบุรีทุกหมู่เหล่า พร้อมใจกันแสดงความกตัญญูกตเวทีจัดพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ และถวายราชสดุดีเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระองค์ ที่ทรงมีต่อชาติไทยและประชาชนชาวไทย ณ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช กรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ ตำบลปากข้าวสาร อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี โดยวันที่ 25 เมษายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2 มีพระนามเดิมว่า พระองค์ดำ พระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตริย์ ทรงพระราชสมภพ ณ พระราชวังจันทน์ เมื่อปี พ.ศ. 2098 พระองค์ทรงมีพระเชษฐภคินีและพระอนุชา คือ พระสุพรรณกัลยา และสมเด็จพระเอกาทศรถ ในขณะที่พระองค์ทรงพระเยาว์ พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า ได้ยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก และทรงขอสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไปเลี้ยงเป็นพระราชบุตรบุญธรรมเพื่อเป็นตัวประกันที่หงสาวดี จนพระชนมายุได้ 15 พรรษา พระองค์จึงเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระมหาอุปราชปกครองเมืองพิษณุโลก ในปี พ.ศ.2098 ทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก ณ เมืองแครง ประกาศอิสรภาพของชาติไทยโดยไม่ขึ้นกับพม่าอีกต่อไป และทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2133
ในรัชสมัยของพระองค์ทรงกระทำสงครามขยายพระราชอาณาจักรไทย ให้แผ่ไพศาลไปในจตุรทิศ ทรงเป็นกษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่และกล้าหาญ โดยพระองค์ได้กู้คืนอิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยา ช่วยกอบกู้เอกราชของชาติ ทรงผดุงความเป็นไทย ปกป้องรักษาแผ่นดินให้ปลอดพ้นภัยจากอริราชศัตรู เพื่ออิสรภาพของปวงชนชาวไทย โดยในปี พ.ศ. 2124 ทรงแสดงแสนยานุภาพในการยกกองทัพเข้าตีเมืองคังจนได้รับชัยชนะ ต่อมาในปี พ.ศ. 2127 ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง และเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2135 ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา จนได้รับชัยชนะ ทำให้พระบรมเดชานุภาพ แผ่ไพศาลไปทั่วปฐพี และปราบปรามหัวเมืองมอญฝ่ายใต้ ได้เมืองตะนาวศรี มะริด ทวาย ต่อมาปี พ.ศ. 2138 และ พ.ศ. 2142 ทรงยกทัพไปตีเมืองหงสาวดีได้เมืองเมาะลำเลิง และเมืองตองอู จนหัวเมืองไทยใหญ่ทั้งปวงยอมขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา
ทั้งนี้พระองค์ได้ทำสงครามเข้าไปในประเทศที่เป็นข้าศึกของไทย ในทุกทิศทาง จนประเทศไทยอยู่เป็นปกติสุขปราศจากศึกสงคราม เป็นระยะเวลายาวนาน พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งสิ้นทั้งปวงของพระองค์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองและคนไทยทั้งมวล ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ จะอยู่ในสนามรบและชนบทโดยตลอด มิได้ว่างเว้น แม้แต่เมื่อเสด็จสวรรคต ก็เสด็จสวรรคตในระหว่างเดินทัพไปปราบศัตรูของชาติไทย สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 รวมพระชนมพรรษา 50 พรรษา นับว่าพระองค์ได้ทรงสละพระองค์ เพื่อชาติบ้านเมืองโดยสิ้นเชิง สมควรที่ชาวไทยรุ่นหลังต่อมา ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ และจดจำวีรกรรมของพระองค์ ไปตราบชั่วกาลนาน.
/ดำรงค์ชื่นจินดา รายงาน