23/11/2024

พิจิตร-กรมชลประทานจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำน่านแบบขั้นบันไดพิจิตรโชคดีได้เป็นลำดับแรกๆ

พิจิตร-กรมชลประทานจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำน่านแบบขั้นบันไดพิจิตรโชคดีได้เป็นลำดับแรกๆ
วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 นายอดิเทพ กมลเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เป็นประธานการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการประตูระบายน้ำฆะมัง ภายใต้โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมประตูระบายน้ำแม่น้ำน่าน จังหวัดน่าน จังหวัดพิจิตร และจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมและผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุม โรงเรียนหลวงพ่อเพชรวิทยา วัดท่าหลวง พระอารามหลวง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร  โดยมีส่วนราชการเครือข่ายภาคประชาชนและกลุ่มผู้ใช้น้ำที่มีส่วนเกี่ยวข้องเกือบ 200 คน เข้าร่วมในเวทีเวนาแลกเปลี่ยนในครั้งนี้
 
โดยมี นายพนมศักดิ์  ใช้สมบุญ  ผอ.ส่วนวางโครงการที่ 1 สำนักบริหารโครงการ , นายฉัตรชัย   ทองปอนด์  ผอ.โครงการชลประทานพิจิตร , นายเอกฉัตร เอี่ยมตาล  ผอ.โครงการชลประทานนครสวรรค์  ,  นายธนบดี รักสัตย์  ผอ.สนง.ก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้และตอบข้อซักถามต่างๆ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ท้ายเขื่อนสิริกิติ์ให้มีประตูระบายน้ำเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำแบบขั้นบันได ซึ่งมีแผนงานการก่อสร้างทั้งหมด 7 แห่ง
 
จากตอนบนสุด เหนือเขื่อนสิริกิติ์ 2 โครงการ  คือ อาคารบังคับน้ำผาจา ต.แงง อ.ปัว จ.น่าน , อาคารบังคับน้ำ น้ำปั้ว-ไหล่น่าน ต.น้ำปั้ว อ.เวียงสา จ.น่าน  ด้านท้ายเขื่อนสิริกิติ์จำนวน 5 โครงการ  อาคารบังคับน้ำท้ายเมืองพิษณุโลก ต.งิ้วงาม อ.เมือง จ.พิษณุโลก , อาคารบังคับน้ำโคกสลุด ต.โคก สลุด  อ.บางกระทุ่ม  จ.พิษณุโลก , อาคารบังคับน้ำฆะมัง ต.ฆะมัง อ.เมืองพิจิตร ความจุกักเก็บ 24.77 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 30,849 ไร่ ในพื้นที่ 2 จังหวัด 10 ตำบล 2 อำเภอ ประกอบด้วย ต.ฆะมัง ต.บ้านบุ่ง ต.ท่าหลวง  ต.ป่ามะคาบ ต.ปากทาง ต.ท่าฬ่อ ต.ไผ่ขวาง ต.ย่านยาว อ.เมือง จ.พิจิตร  , ต.โคกสลุด และ ต. สนามคลี  อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก สามารถกักเก็บน้ำได้ 24.77 ล้าน ลบ.ม. โดยระยะทางกักเก็บน้ำในแม่น้ำน่าน 131.65 กม.
 
ซึ่งจุดนี้มีความพร้อมที่สุดที่กรมชลประทานจะลงมือดำเนินการเป็นลำดับแรกๆ ส่วนอาคารบังคับน้ำบ้านห้วยคต ต.บางไผ่ องบางมูลนาก จ.พิจิตร , อาคารบังคับน้ำวังหมาเน่า  ต.ทับกฤช  อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ก็จะดำเนินการสำรวจศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อจะดำเนินการก่อสร้างให้ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งถ้าหากทำได้ตามเป้าหมายเกษตรกรลุ่มน้ำน่านก็จะสามารถกักเก็บน้ำในลำน้ำได้เพิ่มขึ้น อีก 152.99 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 141,720 ไร่ (ในพื้นที่เดิม) และพื้นที่ชลประทานใหม่ 36,404 ไร่รวมพื้นที่ชลประทานที่จะเกิดประโยชน์ 178,124 ไร่
 ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการนี้น่าจะใช้เวลาสำรวจและรับฟังความเห็นรวมไปจนถึงการลงมือก่อสร้างน่าจะใช้เวลาประมาณ 5-6 ปี คือประมาณปี 2572-2573 เกษตรกรคงจะได้ใช้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวนี้อีกด้วย
สิทธิพจน์ / พิจิตร / 0818872449

ข่าวที่น่าติดตาม