“รมช.มท.เกรียง” มอบแนวทางกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีขยายตลาดไทย-เทศ สร้างเงินล้าน ปลุกศักยภาพกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนฯ รุกแพลตฟอร์มออนไลน์ – เผยรัฐบาลเตรียมยกระดับกองทุนฯ พัฒนาทักษะต้นน้ำจนปลายน้ำ
“รมช.มท.เกรียง” มอบแนวทางกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีขยายตลาดไทย-เทศ สร้างเงินล้าน ปลุกศักยภาพกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนฯ รุกแพลตฟอร์มออนไลน์ – เผยรัฐบาลเตรียมยกระดับกองทุนฯ พัฒนาทักษะต้นน้ำจนปลายน้ำ
///
นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการมอบแนวทางการดำเนินงาน “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” พร้อมให้กำลังใจผู้เข้าร่วมโครงการการประชุมเชิงปฏิบัติการคัดเลือกโครงการตัวอย่าง ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจัดโดยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยตั้งแต่ปี 2555 สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดและนโยบาย ในเรื่องกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี อยากให้สตรีมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับสร้างงาน สร้างอาชีพ สามารถเสริมสร้างรายได้ให้กับครอบครัว จึงมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีขึ้น ซึ่งในเริ่มแรก สตรีจะต้องรวมกลุ่มกัน กลุ่มละ 5 คน สามารถกู้ได้ 100,000 บาท ต่อมาในปี 2558 รัฐบาลในขณะนั้น ได้ย้ายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมาสังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยให้กรมการพัฒนาชุมชนเป็นผู้กำกับดูแล และปรับปรุงระเบียบ ให้สามารถรวมกลุ่มกันได้ 3 คน และกู้ได้ 200,000 บาท
นายเกรียง ยังระบุด้วยว่า รัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้มีการปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และขยายโอกาสให้กับประชาชน โดยเพิ่มวงเงินกู้ในกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเพิ่มขึ้น และทำให้กองทุนใหญ่ขึ้นจากการกู้ 3 คน เป็น 5 คน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน รัดกุม รวมถึงได้มีการฝึกอาชีพ
“ขอเป็นกำลังใจให้สตรีทุกท่านที่มาร่วมในการอบรมกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีพลังสตรีขับเคลื่อนประเทศในวันนี้ ท่านคือตัวอย่างของกลุ่มสตรี ที่ใช้เงินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไปประกอบอาชีพจนประสบความสำเร็จ บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ต้องการให้หญิงชายเท่าเทียมกัน หรือแม้กระทั่งกลุ่มหลากหลายทางเพศ กลุ่มเยาวชนสตรี ได้มีโอกาสในสังคม ร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศ
พวกเราต้องช่วยกันเป็นกระบอกเสียง เพื่อป่าวประกาศให้รู้ว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ของพวกเรายังอยู่ เราเคยทำโครงการดีๆสำเร็จมาแล้ว ทั้งในอดีตและปัจจุบัน และจะทำต่อไปในอนาคต กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี คือโอกาสดีๆ ที่รัฐบาลพร้อมเปิดรับ และสามารถช่วยผู้หญิงอีกจำนวนมาก ให้ยืนบนลำแข้งตัวเอง และยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับผู้ชาย ให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้พลังสตรี เป็นพลังขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป” นายเกรียง กล่าว
ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการสำนักกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ยังได้บรรยายให้ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับทราบแนวทางการยกระดับกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พร้อมเสวนาให้ความรู้ “อนาคตของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” โดยนางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย, นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ผู้แทนคณะร่างนโยบายกองทุนสตรีแห่งชาติ และนายอรรฆรัตน์ นิติพน หรือ “ก้อง อายุน้อยร้อยล้าน”
ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการคัดเลือกโครงการตัวอย่าง แก่ผู้ที่รวมกลุ่มดำเนินโครงการ นำเงินกองทุนฯ ไปต่อยอด จนประสบความสำเร็จแล้ว จังหวัดละ 3 โครงการ รวม 231 โครงการ มาร่วมประชุม อบรม และแข่งขันกัน เพื่อต่อยอดตลาดใหม่ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ผ่านการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ และหาอินฟลูเอ็นเซอร์ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งจะมีการตัดสินผลรางวัลในเดือนสิงหาคม โดยตัดสินจากยอดขาย ยอดการเข้าถึง (Engagement) รวมถึงการสร้างความประทับใจแก่กรรมการผู้ตัดสิน โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้ผู้ที่ประสบความสำเร็จ ไปขยายผลกับสมาชิกกองทุนในแต่ละจังหวัด และเพื่อสร้างการรับรู้ความสำเร็จ และเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และเพื่อให้กลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี มีช่องทางการตลาดบนแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สามารถสร้างการรับรู้เป็นที่รู้จักของสาธารณชน รวมถึงสร้างการรับรู้ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่สามารถยกระดับสตรีได้จริง
ทั้งนี้ ภายในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผู้เข้าร่วมอบรม จะได้รับความรู้ แนวคิด และขั้นตอนการปฏิบัติจากอินฟลูเอนเซอร์ ทั้ง “เล่าเรื่องอย่างไรให้มีราคา” โดยนางสาวลักขณา ปันวิชัย หรือ แขก คำผกา ผู้ประกาศ/ผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย, “ทำ Content อย่างไรให้ปัง” โดยนางสาวปัญจพร พันธเสน” บริษัท กุเลาทองแม่แป้น จำกัด, การบรรยายการใช้ Tik Tok สร้างยอดขายทะลุล้าน หรือ “Tik Tok Seller ทะลุล้าน” โดยก้อง อรรฆรัตน์ นิติพน หรือ ก้องอายุน้อยร้อยล้าน
นอกจากนั้น ผู้เข้าอบรมจะแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ (Work Shop) การพลิกโฉมสินค้าบ้าน ๆ เป็นของที่ทุกคนต้องมี โดยทีมวิทยากรจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์, แบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติการสร้างร้านค้าบน Tik Tok เป็นต้น
//////////