สถิติ 11 เดือน ‘ดีอี’ รุกปราบเพจ/URLs ผิดกฎหมาย เพิ่มขึ้น 11 เท่า เดินหน้าปิดกั้นกว่า 138,000 รายการ
สถิติ 11 เดือน ‘ดีอี’ รุกปราบเพจ/URLs ผิดกฎหมาย เพิ่มขึ้น 11 เท่า เดินหน้าปิดกั้นกว่า 138,000 รายการ
วันที่ 3 กันยายน 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี ให้ความสำคัญกับการเร่งรัดปราบปรามอาชญากรรมทางออนไลน์ โดยเฉพาะการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ และเว็บไซต์ URLs ผิดกฎหมายทุกรูปแบบ ซึ่งมิจฉาชีพได้ใช้เป็นช่องทางสำคัญในการก่ออาชญากรรมทางออนไลน์ โดยจัดตั้งทีมปฏิบัติการทำการตรวจสอบ เฝ้าระวัง และดำเนินการปิดกั้น พร้อมยกระดับกระบวนการปิดกั้นให้มีความรวดเร็ว รัดกุม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
.
ทั้งนี้ จากสถิติการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ และ URLs ผิดกฎหมายทุกรูปแบบ ของกระทรวงดีอี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 สิงหาคม 2567 พบว่า มีการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ และ URLs ผิดกฎหมายทุกประเภทแล้ว จำนวน 138,660 รายการ เพิ่มขึ้น 11 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันก่อนหน้านี้ (1 ตุลาคม 2565 – 31 สิงหาคม 2566) ที่มีจำนวน 12,611 รายการ
.
สำหรับโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs ที่มีการปิดกั้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 สิงหาคม 2567 ประเภทบิดเบือน หลอกลวง และลามกอนาจาร มีดังนี้ กรณีบิดเบือน/หลอกลวง จำนวน 47,471 รายการ เพิ่มขึ้น 7.68 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันก่อนหน้านี้ (1 ตุลาคม 2565 – 31 สิงหาคม 2566) ที่มีจำนวน 6,182 รายการ , กรณีลามกอนาจาร จำนวน 11,948 รายการ เพิ่มขึ้น 14.82 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันก่อนหน้านี้ (1 ตุลาคม 2565 – 31 สิงหาคม 2566) ที่มีจำนวน 806 รายการ
.
“จะเห็นได้ว่าในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงดีอี ได้ทำการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs ผิดกฎหมายไปแล้วกว่า 138,000 รายการ โดยสถิติตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกเดือนนั้น เนื่องจากการปรับกระบวนการทำงานให้มีความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีการตรวจสอบ เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการแจ้งเบาะแส ข้อมูลข่าวปลอม เว็บไซต์ผิดกฎหมายผ่านทางสายด่วน 1111” นายประเสริฐ กล่าว
.
นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอีห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงขอแจ้งเตือนอย่าหลงเชื่อ ข่าวปลอม ข้อมูลบิดเบือน หรือกลโกงของมิจฉาชีพที่หลอกให้เข้าไปลงทุน หรือกดลิงก์แพลตฟอร์มต้องสงสัยภายในโซเชียลมีเดีย เพจ และ URLs ผิดกฎหมาย เพราะอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ทำให้สูญเสียข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งสูญเสียทรัพย์สินได้ หรือหากมีการเชื่อ และแชร์ข้อมูลที่อยู่ใน URLs ผิดกฎหมายต่อๆกัน อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างได้ โดยพี่น้องประชาชนสามารถ แจ้งเบาะแส ข่าวปลอมและอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชั่วโมง ) , Line ID: @antifakenewscenter และเว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com
///////////////////