22/11/2024

ความปลอดภัยไซเบอร์ไทย พัฒนาก้าวกระโดด ‘ประเสริฐ’ เผยผลการจัดอันดับ Global Cybersecurity Index 2024

ความปลอดภัยไซเบอร์ไทย พัฒนาก้าวกระโดด ‘ประเสริฐ’ เผยผลการจัดอันดับ Global Cybersecurity Index 2024

 

โดย ITU ไทยขึ้นอันดับ 7 ของโลกด้าน Cyber Security จาก 194 ประเทศ พุ่งจากอันดับ 44 ในการจัดอันดับครั้งที่ผ่านมา
วันที่ 19 กันยายน 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานแถลงข่าวความสำเร็จการพัฒนาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งผลการจัดอันดับ Global Cybersecurity Index 2024 (GCI) โดย International Telecommunication Union (ITU) ในปี 2024 ซึ่งประเทศไทยก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 7 จากผลการประเมินของ 194 ประเทศทั่วโลก ว่า จากนโยบายการดำเนินงานของกระทรวง ภายใต้แผนงาน ‘The Growth Engine of Thailand’ หรือเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศจะให้ความสำคัญใน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1. การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) ,

2. การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Safety & Security) และ 3. การเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ (Human Capital) และความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะพัฒนารัฐบาลให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล และนโยบายรัฐบาลประการที่ห้าที่รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่น ควบคู่กับการเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดอันดับด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือ GCI ในปี 2024 ประเทศไทยได้คะแนนอยู่ที่ 99.22 คะแนน เป็นอันดับที่ 7 ของโลกจากจำนวน 194 ประเทศ ซึ่งก้าวกระโดดจากลำดับที่ 44 ในการจัดลำดับในครั้งที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ประเทศชั้นนำใน Tier 1 ซึ่งหมายถึงการเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็น role models ด้านไซเบอร์ของโลก จากรายงาน Global Cybersecurity Index (GCI) 2024 ของ ITU ที่วัดผลสัมฤทธิ์ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศต่าง ๆ ผ่าน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านกฎหมาย (Legal) ด้านเทคนิค (Technical) ด้านหน่วยงาน/นโยบาย (Organizational) ด้านการพัฒนาศักยภาพ (Capacity Development) และด้านความร่วมมือ Cooperation)


.
“ผลคะแนนในดัชนีนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการพัฒนาและเสริมสร้างมาตรการความปลอดภัยไซเบอร์ในหลาย ๆ ด้าน โดยผลคะแนนที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานต่าง ๆ ทุกภาคส่วน ร่วมผลักดันงานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ทั้งในระดับบุคคล องค์กร ภาคส่วน และในระดับประเทศ ตลอดจนพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม รายงานอาจแสดงถึงจุดที่ประเทศไทยยังต้องพัฒนาเพิ่มเติม เช่น การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Child Online Protection หรือการเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคนิคในการรับมือภัยคุกคามที่ทันสมัยขึ้นต่อไป” นายประเสริฐ กล่าว


.
ขณะที่ พลอากาศตรีอมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวเสริมว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการยกระดับด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มาอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย 1.การยกระดับด้านกฎหมาย (Legal) ประเทศไทยมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับด้านดิจิทัลหลายฉบับเช่น การกระทำผิดเกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์ เช่น การเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการเผยแพร่ข้อมูลเท็จพระราชบัญญัติข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนและกำหนดหลักเกณฑ์ในการเก็บ ใช้ และเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึง พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่เน้นการสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์


.
2.การยกระดับด้านเทคนิค (Technical) มีการจัดตั้งศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ThaiCERT) และการจัดตั้งศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์สำหรับหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ หรือ Sectoral CERT รวมถึงยังมีการดำเนินการทางเทคนิคด้านอื่น ๆ ได้แก่ การขึ้นทะเบียน ThaiCERT กับองค์กร CERT ระดับสากล ได้แก่ First.org และ The Asia Pacific Computer Emergency Response Team (APCERT) การฝึกเพื่อทดสอบขีดความสามารถทางไซเบอร์ในระดับประเทศ (Thailand’s National Cyber Exercise) และระดับภาคส่วน การจัดตั้งระบบแพลตฟอร์มสำหรับการแบ่งปันข้อมูลภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Malware Information Sharing Platform : MISP) และการแจ้งเตือนภัยคุกคามทางไซเบอร์และช่องโหว่ของระบบ

.
3. การยกระดับด้านหน่วยงาน/นโยบาย (Organizational) โดยมีการจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (พ.ศ. 2565 – 2570) เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ โดยมี สกมช. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมีการจัดตั้งประชาคมไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และแนวคิดให้เกิดการปฏิบัติตามนโยบายและแผนปฏิบัติการฯ รวมถึงนโยบายการบริหารจัดการ ประมวลแนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

.
4.การยกระดับด้านการพัฒนาศักยภาพ (Capacity Development) สกมช. ได้ดำเนินโครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Intensive Cybersecurity Capacity Building Program) ระยะที่ 1 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ทั้งนี้ สามารถพัฒนาบุคลากรได้มากกว่า 5,000 คน การจัดกิจกรรม Thailand Cyber Top Talent เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2021 – 2023 ซึ่งเป็นการแข่งขันด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่เข้าร่วมการแข่งขัน มากกว่า 6,000 คน การจัดกิจกรรม Thailand National Cyber Week เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2021 – 2023 การจัดตั้งสถาบันวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ตลอดจนประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย โดยที่ผ่านมาได้มีการสร้างการตระหนักรู้ ให้ประชาชนไปแล้วมากว่า 1,000,000 คน

.
5. การยกระดับด้านความร่วมมือ (Cooperation) สกมช. มีการทำ MOU กับหน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศ ร่วมแล้วมากกว่า 34 ฉบับ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน อิสราเอล Microsoft Fortinet Huawei Gogolook AIS กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมสุขภาพจิต สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เป็นต้น การขับเคลื่อน ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre ร่วมกับประเทศญี่ปุ่น มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2561 ถึงปัจจุบัน เพื่อพัฒนาบุคลากรในอาเซียน ตลอดจนการริเริ่มแคมเปญเพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์กลุ่มเด็กหรือเยาวชน ในการผลักดันการปกป้องเด็กบนโลกออนไลน์ (Child Online Protection) โดยออกมารูปแบบของโครงการมากมาย
.
นอกจากนี้ การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน ส่งผลให้ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับนานาชาติอย่างสม่ำเสมอ เช่น ASEAN Cyber Coordinating Committee (ASEAN Cyber – CC) และ ASEAN-EU Statement on Cybersecurity Cooperation เป็นต้น

///////////////

ข่าวที่น่าติดตาม