‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ เผยผลกวาดล้าง ‘บัญชีม้า’ ไปแล้วกว่า 1 ล้านบัญชี เร่งขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนรัฐบาลแพทองธาร ปราบ ‘อาชญากรรมออนไลน์’ พร้อมออกกฎหมายพิเศษ ช่วยเหลือ ‘ผู้เสียหาย’ ให้ทันท่วงที
‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ เผยผลกวาดล้าง ‘บัญชีม้า’ ไปแล้วกว่า 1 ล้านบัญชี เร่งขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนรัฐบาลแพทองธาร ปราบ ‘อาชญากรรมออนไลน์’ พร้อมออกกฎหมายพิเศษ ช่วยเหลือ ‘ผู้เสียหาย’ ให้ทันท่วงที
วันที่ 23 กันยายน 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่าการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งตนเป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี เป็นรองประธานกรรมการฯ , นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอี เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ และผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) , สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) , ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , สมาคมธนาคารไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) , กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) , สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ,สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมหารือ เพื่อดำเนินงานการตามนโยบายปราบปรามภัยออนไลน์ของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
.
นายประเสริฐ กล่าวว่าที่ประชุมได้พิจารณาผลดำเนินการและมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ 8 เรื่องที่สำคัญ โดยสรุปได้ดังนี้
.
1. การแก้กฎหมายเร่งด่วนช่วยผู้เสียหายและป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลแพทองธาร แก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์และเพิ่มความรับผิดชอบผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และสถาบันการเงิน กระทรวง ดีอี เร่งยกร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ฉบับที่ 2 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ
– การเร่งคืนเงินผู้เสียหาย
– การเพิ่มสิทธิ์ผู้เสียหายและเพิ่มความรับผิดชอบผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และสถาบันการเงิน
– การเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล และบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.
– การป้องกันการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างผิดกฎหมาย
– การระงับการใช้ ซิม ที่ต้องสงสัย
.
ทั้งนี้ จากการดำเนินการถึงเดือน สิงหาคม 2567 กระทรวงดีอี ได้ดำเนินการปรับเป็นพินัยกับผู้ให้บริการโทรคมนาคม หรือ ISP ที่ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย โดยได้แจ้งข้อกล่าวหา ผู้ให้บริการโทรคมนาคมหรือ ISP จำนวน 4 ราย และได้มีคำสั่งปรับพินัย ผู้ให้บริการโทรคมนาคมหรือ ISP จำนวน 4 ราย ทั้งสิ้น 677,500 บาท
.
2. การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ ในเดือนสิงหาคม (ข้อมูล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
– การจับกุมคดีออนไลน์รวมทุกประเภท สิงหาคม 2567 มีจำนวน 1,945 ราย ลดลงร้อยละ 22.04 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 2,495 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม – มีนาคม 2567
– การจับกุมคดีเว็บพนันออนไลน์ สิงหาคม 2567 มีจำนวน 732 ราย ลดลงร้อยละ 31.20 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 1,064 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม – มีนาคม 2567
– การจับกุมคดีซิมม้า บัญชีม้า สิงหาคม 2567 มีจำนวน 122 ราย ลดลงร้อยละ 49.17 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 240 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม – มีนาคม 2567
.
3. การปิดโซเชียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนัน โดยกระทรวงดีอี ได้ปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs ที่ไม่เหมาะสม ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 สิงหาคม 2567 (ระยะเวลา 11 เดือน) โดย 1) ดำเนินการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs ผิดกฎหมายโดยรวมทุกประเภท จำนวน 138,660 รายการ เพิ่มขึ้น 11 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบ 2566 , 2) ปิดกั้นเพจ/URLs ที่เกี่ยวข้องกับพนันออนไลน์ จำนวน 58,273 รายการ เพิ่มขึ้น 34.3 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบ 2566
.
4. การแก้ปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัด ตัดตอนการโอนเงิน
ผลการดำเนินงานถึง 31 สิงหาคม 2567 มีการระงับบัญชีม้ารวมกว่า 1,000,000 บัญชี แบ่งเป็น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ปิด 450,000 บัญชี ธนาคาร 300,000 บัญชี และศูนย์ AOC 1441 ระงับ 291,256 บัญชี
.
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ยกระดับการป้องกันการเปิดบัญชี และ จัดการบัญชีม้า โดยเฉพาะบุคคล ที่ยินยอมเปิดบัญชีธนาคารให้คนร้ายใช้ อาทิ การออกมาตราการ ระงับบัญชีของผู้ที่เปิดบัญชีให้คนร้ายทุกบัญชี และการใช้มาตรการ CDD การตรวจสอบข้อมูลอย่างเข้มข้นตามระดับความเสี่ยงของผู้เปิดบัญชีใหม่ เป็นต้น
.
5.การแก้ไขปัญหาซิมม้า และ ซิมม้าที่ผูกกับ mobile banking โดยผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 31 สิงหาคม 2567 มีดังนี้
– การกวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย โดย สำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการโทรคมนาคมรได้ระงับซิมม้าแล้ว จำนวนกว่า 2.8 ล้านเลขหมาย
– การระงับหมายเลขโทรออกเกิน 100 ครั้ง/วัน แล้ว 80,731 เลขหมาย มีผู้มายืนยันตัวตน 418 เลขหมาย ไม่มายืนยันตัวตน 80,313 เลขหมาย
– มาตรการคัดกรองผู้ใช้งาน Mobile Banking ที่ต้องสงสัย โดยใช้ระบบคัดกรองผู้ใช้งาน (Sim Screening) ตรวจสอบหมายเลขบัตรประชาชนผู้ครอบครองหมายเลขโทรศัพท์ตรงกับหมายเลขโทรศัพท์ที่ลงทะเบียน Mobile Banking กับธนาคารหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 เพื่อตรวจสอบกลุ่มบัญชีที่มีความเสี่ยงถูกใช้เป็นบัญชีม้า ในเบื้องต้นประเมินว่า มีผู้ใช้งาน Mobile Banking จำนวน 18 ล้านบัญชี เข้าข่ายต้องตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกหรือต้องทำการยืนยันตัวตนใหม่ ซึ่งจะต้องจัดทำแนวทางดำเนินงานในรายละเอียดต่อไป
.
6. การดำเนินการเรื่องเสา โทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน
.
จากยุทธการ “ระเบิดสะพานโจร” เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 กสทช. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ให้บริการโทรคมนาคมในพื้นที่ ร่วมกันตรวจสอบการลักลอบลากสายสัญญาณข้ามแดนโดยไม่ได้รับอนุญาต
ณ ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร และสะพานมิตรภาพไทย –ลาว แห่งที่ 2 จากตรวจสอบพบมีการลักลอบลากสายสัญญาณจากบ้านเช่าในตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งขอใช้บริการอินเทอร์เน็ตจากผู้ให้บริการบริการอินเทอร์เน็ต 3 ราย นำมาทำ Load Balance และลากสายสัญญาณไฟเบอร์ออฟติกขนาด 12 Core ไปยังตู้ชุมสายสัญญาณไฟเบอร์ออฟติก(ODF) ของบริษัทฯ ผู้รับใบอนุญาตประเภท 1 และ 3 บริเวณสะพานมิตรภาพไทย –ลาว แห่งที่ 2 โดยบริษัทฯ ดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้บริการโทรคมนาคมออกนอกราชอาณาจักรไทย ต่อมาที่ตู้ของบริษัทฯ ดังกล่าวตรวจพบการติดตั้งอินเทอร์เน็ตจากผู้ให้บริการเพิ่มเติมอีก 3 ราย โดยสายสัญญาณที่ลากออกจากตู้ฯ ดังกล่าวนั้นมีการลากต่อไปยังสะพานมิตรภาพไทย –ลาว แห่งที่ 2 และเชื่อมต่อไปสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
.
นอกจากนี้สำนักงาน กสทช. อยู่ระหว่างการจัดทำ MOU ด้านการป้องกันการให้บริการระบบโทรคมนาคมข้ามพรมแดนเพื่อการก่อการร้ายทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการค้ามนุษย์ กับกองทัพไทย ซึ่งประกอบด้วย กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ โดยจะดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของกองทัพไทยช่วยสนับสนุนลาดตระเวนพื้นที่ชายแดนและตรวจสอบการใช้สัญญาณโทรคมนาคมข้ามพรมแดนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และการค้ามนุษย์ กำหนดการลงนาม ภายในเดือนตุลาคม 2567
.
7. การแก้ปัญหาหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์ มาตรการแก้ไขกฎหมาย COD หรือ ซื้อสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง โดย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ดำเนินการออก “ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการบริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ.2567 โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินค้าหรือบริการออนไลน์แบบใช้บริการเก็บเงินปลายทาง (COD) ตามที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาภายใต้ สคบ. มีมติเห็นชอบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อเดือน กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา
.
8. การบูรณาการข้อมูล โดยศูนย์ AOC 1441 โดยกระทรวงดีอี ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตร. สมาคมธนาคารไทย สมาคมโทรคมนาคม ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ศูนย์ AOC 1441 เป็นแพลตฟอร์มรับและแลกเปลี่ยนข้อมูลบูรณาการข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการจัดการบัญชีม้า ซิมม้า และคนร้ายได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
.
“ในภาพรวม จากการดำเนินงานแบบบูรณาการ สามารถกวาดล้างบัญชีม้าและซิมม้า และเร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ พร้อมทั้งการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้แก่ประชาชน ส่งผลให้ มูลค่าความเสียหายจากคดีออนไลน์ ในเดือนสิงหาคม 2567 ลดลง 36% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของเดือน มกราคม – มิถุนายน 2567 ในขณะเดียวกันจำนวนการแจ้งความคดีออนไลน์ก็ลดลงในเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตาม การปราบปรามจับกุมให้ถึงต้อตอคนร้ายทั้งที่อยู่ในไทยและอยู่ในต่างประเทศยังไม่น่าพอใจ เรายังต้องเร่งรัดการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาสำหรับประชาชนให้เป็นรูปธรรมตามนโยบายรัฐบาลแพทองธาร” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
/////////////