สุโขทัย-ชาวทุ่งเสลี่ยมวิตกกังวนหนักเอกสารสิทธิ์ที่ดินกว่า4แสนไร่ ใช้ธุรกรรมไม่ได้ค่อนอำเภอ
สุโขทัย-ชาวทุ่งเสลี่ยมวิตกกังวนหนักเอกสารสิทธิ์ที่ดินกว่า4แสนไร่ ใช้ธุรกรรมไม่ได้ค่อนอำเภอ
เวลา 9.00น.วันที่ 24 ก.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวอำเภอทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย เกิดความเดือดร้อนวิตกกังวล และวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง กรณีที่มีกระแสข่าวว่า ที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ทำกินที่อยู่อาศัยและเลี้ยงชีพ รุ่นสู่รุ่นยาวนาน กลายเป็นพื้นที่ป่าหวงห้าม เอกสารสิทธิ์ต่างๆที่มีอยู่ กระแสว่าออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และไม่สามารถใช้ทำธุรกรรมต่างๆได้ค่อนอำเภอทุ่งเสลี่ยม
โดยผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายภาณุวิชญ์ จองป้อ นายกเทศบาลตำบลทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย ว่าเป็นการรวมความคิดร่วมกันให้ความช่วยเหลือชาวบ้านทั้งอำเภอในหลายๆตำบล ของผู้บริหารท้องถิ่นในอำเภอทุ่งเสลี่ยม ทั้ง เทศบาลฯ อบต.ฯ เพื่อช่วยเหลือและหาทางออกกรณีชาวทุ่งเสลี่ยมจำนวนมากจะเสียสิทธิ์ธุรกรรม ในการครอบครองที่ดินทำกิน
โดยชาวบ้านเหล่านี้จำนวนมากค่อนอำเภอที่โยกย้ายถิ่นฐานมาจากอำเภอเถิน จ.ลำปางซึ่งเป็นเขตติดต่อลงมาจับจองแผ้วถาง ทำมาหากินและอยู่อาศัยประมาณปี พ.ศ.2423 และสมัยนั้นทางการจัดตั้งเป็นตำบลทุ่งเสลี่ยม อ.วังไม้ขอน สังกัด จ.สวรรคโลก ต่อมาปี2471 นายอำเภอสวรรคโลก ในสมัยนั้นได้ประกาศพื้นที่สาธารณะประโยชน์เพื่อการเลี้ยงสัตว์ เนื้อที่รวม 66,529 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบลของอ.ทุ่งเสลี่ยมในปัจจุบันนี้ทั้งหมด ต่อมาปี 2502 ได้ตั้งเป็น อำเภอทุ่งเสลี่ยม และมีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินให้ชาวบ้าน เรื่อยมาหลายช่วงเวลา เช่น นส.2,นส.3 ,นส.3ก.เป็นต้น จนปัจจุบันที่ดินบางส่วนได้กลายเป็นโฉนดแล้ว กระทั่ง 2-3ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านในเขตเทศบาลตำบลทุ่งเสลี่ยม ตำบลอื่นๆที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ ได้ยื่นขอมีเอกสารสิทธิ์ที่ยังตกค้างกว่า 200 แปลง แต่ยังขอไม่ได้
จนต้องร้องต่อศาลปกครอง จึงมีการนำสืบพยานหลักฐานจนพบว่า ที่ดินในอำเภอทุ่งเสลี่ยมทั้งหมด รวมถึงที่ อ.สวรรคโลก และ อ.ศรีสำโรง บางส่วน เป็นพื้นที่อยู่ในประกาศของกฤษฎีกาป่าหวงห้าม 2 ฉบับ คือ1.พระราชกฤษฎีกาเขตหวงห้ามที่ดินบางยม บ้านไร่ ทุ่งเสลี่ยม พ.ศ.2486 เพื่อประโยชน์กรมป่าไม้ พื้นที่ประมาณ 3 แสนกว่าไร่ และ 2.พระราชกฤษฎีกาเขตป่าหวงห้ามที่ดินดงคา พ.ศ.2491 ไม่ทราบจำนวน แต่รวมทั้ง2ฉบับแล้วกว่า 4แสนไร่ ปัญหาคือเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ชาวทุ่งเสลี่ยมทั้งอำเภอที่ ถือครองอยู่ในปัจจุบัน เช่น นส.3ก.จำนวน 4หมื่นกว่าแปลง, โฉนดที่ดิน 1 หมื่นกว่าแปลง จึงกลายเป็นเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยมิชอบ เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวประกาศใว้ จึงไม่สามารถใช้ทำธุรกรรมได้และถูกปฏิเสธจากสถาบันการเงิน ไม่สามารถใช้ประกันเงินกู้หรือจำนองได้ ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ พูดถึงกันเป็นอย่างมากด้วยความวิตกกังวล
ตนและบรรดาผู้นำชุมชนท้องถิ่น,ท้องที่ หลังจากทราบเรื่องจึงรวบรวมข้อมูลต่างๆ แล้วเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อประธานกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ให้กับชาวบ้านของอำเภอทุ่งเสลี่ยม โดยขอให้เพิกถอนสภาพประกาศดังกล่าว จะทั้งหมดหรือบางส่วนก็แล้วแต่ และสำรวจพื้นที่ให้แน่ชัด เนื่องจากประกาศฯฉบับปี 2486 ไม่มีแผนที่แนบท้ายว่ามีจำนวนเท่าใดและบริเวณไหนบ้าง รวมถึงยกเลิกประกาศพื้นที่สาธารณะเพื่อการเลี้ยงสัตว์ด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ พื้นที่ใน อ.ทุ่งเสลี่ยม ไม่ได้เป็นพื้นที่ป่าแล้ว กลายเป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่ตั้งส่วนราชการ ไม่ว่าจะเป็นที่ว่าการอำเภอ,สำนักงานเทศบาล,สำนักงานอบต.สถานีตำรวจ,โรงเรียน,โรงพยาบาล ,แหล่งธุรกิจค้าขายและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด จึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องมาหาทางแก้ไขและให้ชาวบ้านกระจ่างชัดและสบายใจในการใช้ชีวิตต่อไป