“เผ่าภูมิ” เผยบอร์ด Fin Hub เคาะกรอบกฎหมายศูนย์กลางการเงิน ชู 6 ธุรกิจเป้าหมาย ลุยลูกค้าต่างชาติ ใช้ กทม. เป็นฐาน
“เผ่าภูมิ” เผยบอร์ด Fin Hub เคาะกรอบกฎหมายศูนย์กลางการเงิน ชู 6 ธุรกิจเป้าหมาย ลุยลูกค้าต่างชาติ ใช้ กทม. เป็นฐาน
ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายและยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน ว่า
ที่ประชุมเห็นชอบกรอบแนวทางการจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน เพื่อยกร่างกฎหมายต่อไป ดังนี้
1. ธุรกิจเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจระบบการชำระเงินและบริการชำระเงิน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ธุรกิจประกันภัย และธุรกิจอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
2. ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมาย ได้แก่ นิติบุคคล และสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ ที่ให้บริการแก่นิติบุคคลหรือบุคคลที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (Non-residents) โดยห้ามชักชวนและให้บริการลูกค้าในประเทศไทย (No Solicitation)
3. ขอบเขตการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจที่ระดมทุนจากต่างประเทศเพื่อลงทุนในต่างประเทศ (Out-out) ในระยะแรก และพิจารณาธุรกิจที่เป็นการระดมทุนจากต่างประเทศเพื่อลงทุนในประเทศไทย (Out-in) โดยไม่ให้ขัดกับเงื่อนไข Non-Residents ในระยะต่อไป
4. สถานที่ตั้งของผู้ประกอบธุรกิจ ได้แก่ กรุงเทพและปริมณฑล ในระยะแรก
5. เงื่อนไขเกี่ยวกับสถานประกอบการ ได้แก่ กำหนดให้มีเงื่อนไขขั้นต่ำในเขตที่กำหนด เช่น เงื่อนไขการจ้างงาน ระยะเวลาการประกอบธุรกิจ การมีสำนักงาน เป็นต้น โดยให้อำนาจ คกก.กำกับและส่งเสริมศูนย์กลางทางการเงินในการกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์
6. ให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางทางการเงิน (One-stop Authority: OSA) ขึ้นใหม่ในรูปแบบหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ โดยหน้าที่ของ OSA ได้แก่ กำหนดแนวทางการส่งเสริมธุรกิจเป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งสิทธิประโยชน์ที่เป็นตัวเงิน เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นต้น และสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น การให้ Fast Track VISA การอนุมัติใบอนุญาตทำงานคนต่างด่าว (Work Permit) การจ้างงาน เป็นต้น และกำหนดเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง และประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาต และพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต หรือให้ความเห็นชอบ หรือรับจดทะเบียนเพื่อประกอบธุรกิจเป้าหมาย เป็นต้น
7. สิทธิประโยชน์ (ข้อเสนอเบื้องต้น) โดยให้เป็นอำนาจของ OSA ต่อไป ได้แก่ นิติบุคคลเข้าข่ายบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ต้องปฏิบัติตาม GloBE Rules ของ Pillar 2 และกรณีนิติบุคคลอื่น สามารถกำหนดอัตราภาษีที่ต่ำว่ากรณีนิติบุคคลที่เป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ได้ โดยอาจกำหนดแบบเป็นลำดับขั้น (Tier) หรืออัตราคงที่ สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อาจพิจารณาเป็นอัตราผ่อนปรน สำหรับภาษีหัก ณ ที่จ่าย เงินปันผลและดอกเบี้ยที่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้โครงการฯ จ่ายให้กับบริษัทแม่ หรือบริษัทในเครือในต่างประเทศ อาจพิจารณาเป็นอัตราผ่อนปรน