01/11/2024

ลำพูน – ผู้ว่าฯลำพูน สรุปข้อมูลสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อำเภอเมืองลำพูน

ผู้ว่าฯลำพูน สรุปข้อมูลสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อำเภอเมืองลำพูน ณ ปัจจุบัน พบน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎร พื้นที่ทางการเกษตร ฯลฯ มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 6 ตำบล 28 หมู่บ้าน

 

 

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2567 นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานสรุปข้อมูลสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อำเภอเมืองลำพูน ณ ปัจจุบัน(ข้อมูล ณ วันที่ 14 ต.ค. 67 เวลา 08:00 นาฬิกา) จากนายอำเภอเมืองลำพูน ว่า สถานการณ์น้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎร พื้นที่ทางการเกษตรฯลฯ ขณะนี้มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 6 ตำบล 28 หมู่บ้าน รายละเอียด ดังนี้

1. ตำบลเหมืองง่า(3 หมู่บ้าน) ระดับน้ำในพื้นที่ลดลงประมาณ 10 ซม. พื้นที่ลุ่มยังคงมีน้ำท่วมขัง ทั้งนี้ได้สำรวจพื้นที่และวางแผนการระบายน้ำจากลำเหมืองกลางลงสู่ลำน้ำปิงห่างและแม่น้ำกวงตามลำดับ ระดับน้ำแม่กวงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
– บ้านต้นผึ้ง หมู่ 1 มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎร 60 หลังคาเรือน หอพัก 1 แห่ง(หอพักสบายใจ) ระดับน้ำลดลง น้ำเริ่มมีสีดำส่งกลิ่นเหม็น
– บ้านป่าขาม หมู่ 5 มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎร 25 หลังคาเรือน และพื้นที่การเกษตร ระดับน้ำลดลง
– บ้านหลุก หมู่ 8 มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎร จำนวน 56 ครัวเรือน และน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร ระดับน้ำลดลง น้ำเริ่มมีสีดำส่งกลิ่นเหม็น

2. ตำบลอุโมงค์(10 หมู่บ้าน) ระดับน้ำในพื้นที่ลดลงประมาณ 15 เซนติเมตร พื้นที่ลุ่มต่ำยังคงมีน้ำท่วมขังเป็นบางแห่ง สำหรับน้ำปิงห่างที่ไหลผ่านหมู่บ้านระดับน้ำลดลง ได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่ม เพื่อทำการเร่งผลักดันน้ำออกจากพื้นที่
– บ้านอุโมงค์ หมู่ 1 มีน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร 25 หลังคาเรือน
– บ้านกอม่วง หมู่ 2 มีน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร 5 หลังคาเรือน
– บ้านสันกับตอง หมู่ 3 มีน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร 10 ครัวเรือน และพื้นที่การเกษตร
– บ้านฮ่องกอก หมู่ 4 มีน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร 4 หลังคาเรือน
– บ้านป่าเห็ว หมู่ 5 มีน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร 30 หลังคาเรือน
– บ้านป่าลาน หมู่ 6 มีน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร 8 หลังคาเรือน
– บ้านหนองหมู หมู่ 7 มีน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร 10 หลังคาเรือน
– บ้านไร่ หมู่ 8 มีน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร 2 หลังคาเรือน
– บ้านป่าเส้า หมู่ 9 มีน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร 17 หลังคาเรือน
– บ้านชัยสถาน หมู่ 10 มีน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร 14 หลังคาเรือน และพื้นที่การเกษตร

3. ตำบลริมปิง(6 หมู่บ้าน) สถานการณ์น้ำในพื้นที่ตำบลริมปิง พบว่าแม่น้ำปิงและคลองชลประทานได้ลดระดับลง แต่ยังมีน้ำท่วมขังในที่ลุ่มต่ำ ยังคงมีการใช้เครื่องสูบน้ำเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
– บ้านทุ่งป่าแก หมู่ 1 มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎร 5 หลังคาเรือน
– บ้านร่องกาศ หมู่ 2 มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎร 15 หลังคาเรือน
– บ้านฮ่องแล้ง หมู่ 3 มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎร 1 หลังคาเรือน
– บ้านป่ายาง หมู่ 8 มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎร 3 หลังคาเรือน
– บ้านสบปะ หมู่ 9 มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎร 10 หลังคาเรือน
– บ้านกลางทุ่ง หมู่ 10 มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎร 5 หลังคาเรือน

4. ตำบลประตูป่า(3 หมู่บ้าน) สถานการณ์น้ำในพื้นที่ตำบลประตูป่า แม่น้ำปิง และคลองชลประทานได้ลดระดับลง แต่ยังมีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎรที่ลุ่มต่ำ น้ำสีดำ มีกลิ่นเน่าเหม็น ทั้งนี้ ยังคงมีการใช้เครื่องสูบน้ำเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
– บ้านวังมุย หมู่ 1 มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎร 20 หลังคาเรือน
– บ้านล้องเดื่อ หมู่ 2 มีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร
– บ้านศรีสุพรรณ หมู่ 6 มีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร


.
5. ตำบลหนองช้างคืน(3 หมู่บ้าน) ได้รับผลกระทบจากมวลน้ำที่มาจาก อ.สารภี เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ ระดับน้ำในพื้นที่ลดลงประมาณ 30 เซนติเมตร ยังท่วมขังในพื้นที่ลุ่มบางแห่ง โดยได้ประสานกับทางชลประทานจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหาทางระบายออกเข้าสู่ระบบส่งน้ำฝายแม่ปิงเก่าให้ได้มากที่สุด ติดตั้งเครื่องสูบน้ำพื้นที่ หมู่ที่ 2 ตำบลหนองช้างคืน เพื่อสูบน้ำที่ขังออกจากแอ่งกระทะไปยังแม่ปิงเก่า และได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฮโดรโฟล ขนาด 24 นิ้ว ที่เหมืองกู่แดง ตำบลหนองช้างคืน เพื่อเร่งระบายน้ำจากบ้านหนองช้างคืน ลงสู่ระบบส่งน้ำฝายแม่ปิงเก่า และเป็นการตัดยอดน้ำที่จะไหลเข้าสู่เมืองลำพูน
– บ้านหัวฝาย หมู่ 1 มีน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร 8 หลังคาเรือนและพื้นที่การเกษตร
– บ้านหนองช้างคืน หมู่ 2 มีน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร 10 หลังคาเรือน
– บ้านหนองช้างคืน หมู่ 4 มีน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร 20 หลังคาเรือนและพื้นที่การเกษตร

6. ตำบลต้นธง(3 หมู่บ้าน) ระดับน้ำแม่น้ำปิงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หมู่บ้านติดน้ำปิง ยังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังที่ลุ่มบางพื้นที่ ระดับน้ำลดลงเกือบเข้าสู่สภาวะปกติ ประชาชนเริ่มทำความสะอาดบ้านเรือน ทางโครงการชลประทานลำพูน ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำกำลังสูง ขนาด 42 นิ้ว เพิ่ม อีก 1 เครื่อง บริเวณ ทรบ.ล้องพะปวน บ้านปากล้อง หมู่ที่ 6 ตำบลต้นธง ช่วยสูบน้ำ/เร่งระบายน้ำลงแม่น้ำปิงให้เร็วขึ้น เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน
– บ้านพันตาเกิน หมู่ 5 มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎร 10 หลังคาเรือน
– บ้านใหม่สันมะนะ หมู่ 8 มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎร 15 หลังคาเรือน
– บ้านปากล้อง หมู่ 9 มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎร 10 หลังคาเรือน

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)/กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและราษฎรบริเวณตำบลหนองช้างคืน ตำบลอุโมงค์ และตำบลเหมืองง่า ทำการอพยพผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง และทำการขนย้ายสิ่งของไว้ในที่ปลอดภัย โดยน้ำที่ไหลมาจาก อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ไหลเข้าท่วมพื้นที่ ทำให้บ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่ตำบลหนองช้างคืนเพิ่ม เพื่อเร่งการระบายน้ำ ตำบลอุโมงค์ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่ลำเหมืองร่องเชี่ยวต่อลงแม่น้ำกวง ส่วนพื้นที่ ตำบลเหมืองง่า ได้ติดตั้งเรือผลักดันน้ำ จำนวน 10 ลำ ติดตั้งบริเวณสะพานศรีบุญยืน เพื่อเร่งผลักดันน้ำกวงเปิดทางให้มวลน้ำที่ยังค้างอยู่ในพื้นที่ ตำบลเหมืองง่า ลงสู่ลำน้ำสายหลัก และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ Hydro Flow ขนาด 42 นิ้ว เพิ่มอีก 1 เครื่อง บริเวณเหมืองลิ่งห้า(หลังเทศบาลตำบลเหมืองง่าเก่า) ตำบลเหมืองง่า เพื่อเร่งสูบระบายน้ำ ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และได้ขุดเปิดทางน้ำเพิ่มเติม บริเวณประตูระบายน้ำเหมืองหลิ่งห้า หมู่ที่ 2 ตำบลเหมืองง่า ทำให้การไหลระบายน้ำไหลสะดวกคล่องตัวยิ่งขึ้น

เมื่อวานนี้(13 ต.ค. 67) ได้นำสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน(อส) กองร้อย อำเภอเมืองลำพูน ร่วมกับราษฎรตำบลอุโมงค์ นำกระสอบทรายไปปิดกั้นบริเวณ ตลิ่งที่สุดทัวร์ลงใน เหมืองเก้าศอกเพื่อไม่ให้น้ำล้นออกมาท่วมบ้านเรือนราษฎร หมู่ 2 ตำบลอุโมงค์ และใกล้เคียง

ทั้งนี้ โดยสรุป สถานการณ์ปัจจุบันระดับน้ำแม่น้ำปิงและแม่น้ำกวงลดลงจากเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม นายอำเภอ(นอ.)เมืองลำพูน/ผู้อำนวยการอำเภอ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงาน ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่ ตลอดจนสั่งการให้ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันประสานการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยให้ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังโดยเร็ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ประสบอุทกภัย และให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป..ผู้ว่าฯลำพูน เปิดเผยในที่สุด

กรรณิการ์ วิจิตรสกลการ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดลำพูน