22/11/2024

“พิพัฒน์” เปิดงานสืบสานมรดกภูมิปัญญาประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า แข่งเรือยาว และยกระดับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จ.สุราษฎร์ธานี

“พิพัฒน์” เปิดงานสืบสานมรดกภูมิปัญญาประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า แข่งเรือยาว และยกระดับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จ.สุราษฎร์ธานี ชื่นชม เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการหมุนเวียนและกระจายรายได้สู่ประชาชนในพื้นที่ตามนโยบายรัฐบาล

วานนี้ (18 ต.ค. 67) เวลา 19.00 น. ที่สะพานนริศ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี อ.เมืองสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน “สืบสานมรดกภูมิปัญญาประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า แข่งเรือยาว และยกระดับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” โดยมี นายสุคนธ์ หนูภักดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน หัวหน้าส่วนราชการ นายพิชัย ชมภูพล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี พรรคภูมิใจไทย ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน ร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า แข่งเรือยาว ถือเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของพี่น้องชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีตั้งแต่อดีตที่ผูกพันกับสายน้ำมายาวนาน และได้มีการอนุรักษ์ไว้ถึงปัจจุบัน ซึ่งถือว่า มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูอนุรักษ์ สืบสาน ประเพณีชักพระทางน้ำ นอกจากนี้ ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดสุราษฎร์ธานีจากการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการหมุนเวียนและกระจายรายได้สู่ประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีตามนโยบายรัฐบาลและนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
.
“ขอชื่นชมและขอบคุณผู้มีส่วนร่วมทุกหน่วยงานสำหรับความร่วมมือ ความเสียสละทุ่มเทให้งานสำเร็จขึ้นมาได้ ตลอดจนขอขอบคุณพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ได้ให้ความสำคัญต่อการสืบสานประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว และยกระดับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จนทำให้เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป และขอให้พวกเราได้ช่วยกันสืบทอดและรักษาประเพณีของจังหวัดให้คงอยู่สืบต่อไป” นายพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม
.
นายสุคนธ์ กล่าวว่า จ.สุราษฎร์ธานี มีการจัดงานประเพณีชักพระ – ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว ที่มีความโดดเด่นกว่าจังหวัดอื่น โดยเฉพาะ “การชักพระทางน้ำ” ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นตามภูมิประเทศของจังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งมีแม่น้ำหลายสายเวียนมาบรรจบ จึงมีการอนุรักษ์สืบทอดเรือพนมพระทางน้ำมาถึงปัจจุบัน แม้ว่าปัจจุบันจะมีเรือพระทางน้ำเพียง 4 วัด คือ 1. วัดบางใบไม้ 2. วัดบางกล้วย 3. วัดประสิทธาราม 4. วัดแหลมทอง
.
“การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เกิดขึ้นได้ด้วยการบูรณาการร่วมกับเครือข่ายทางวัฒนธรรม มีกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมและการสาธิตการจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรม เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการนำวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรมพื้นถิ่นให้เป็นวัฒนธรรมสร้างสรรค์ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย” นายสุคนธ์ กล่าวเพิ่มเติม

///

ข่าวที่น่าติดตาม