01/11/2024

‘ดีอี’ เปิดผลงานปราบมิจฉาชีพออนไลน์ ลุย ‘ปิดบัญชีม้า’ แล้วกว่า 1.1 ล้านบัญชี – กวาดล้าง ‘ซิมผี’ กว่า 2.7 ล้านหมายเลข เผยเดือน ‘ก.ย.67’ ความเสียหายลดลงแล้วกว่า 1,500 ล้านบาท

‘ดีอี’ เปิดผลงานปราบมิจฉาชีพออนไลน์ ลุย ‘ปิดบัญชีม้า’ แล้วกว่า 1.1 ล้านบัญชี – กวาดล้าง ‘ซิมผี’ กว่า 2.7 ล้านหมายเลข เผยเดือน ‘ก.ย.67’ ความเสียหายลดลงแล้วกว่า 1,500 ล้านบาท

 

 

 

วันที่ 21 ตุลาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมาซึ่งมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี เป็นรองประธานกรรมการฯ , นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอี เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ และผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) , สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) , ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , สมาคมธนาคารไทย , สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) , กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ,

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) , สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อหารือการดำเนินงานการตามนโยบายปราบปรามภัยออนไลน์ของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาผลดำเนินการและมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ 9 เรื่องที่สำคัญ โดยสรุปได้ดังนี้ 1. การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ ในเดือนกันยายน 2567 (ข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ประกอบด้วย การจับกุมคดีออนไลน์รวมทุกประเภท กันยายน 2567 มีจำนวน 2,860 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือน สิงหาคม 2567 ที่มีจำนวน 1,945 ราย , การจับกุมคดีเว็บพนันออนไลน์ กันยายน 2567 มีจำนวน 972 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือน สิงหาคม 2567 ที่มีจำนวน 732 ราย และการจับกุมคดีซิมม้า บัญชีม้า กันยายน 2567 มีจำนวน 497 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือน สิงหาคม 2567 ที่มีจำนวน 122 ราย


.
2. การปิดโซเชียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนัน โดยกระทรวงดีอี ปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs ที่ไม่เหมาะสม ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 กันยายน 2567 (ระยะเวลา 12 เดือน ประกอบด้วย 1) ดำเนินการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs ผิดกฎหมายโดยรวมทุกประเภท จำนวน 150,425 รายการ เพิ่มขึ้น 8.51 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบ 2566 , 2) ปิดกั้นเพจ/URLs ที่เกี่ยวข้องกับพนันออนไลน์ จำนวน 62,213 รายการ เพิ่มขึ้น 30.22 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบ 2566 และ 3) ปิดกั้น Line ID ที่เกี่ยวข้องกับการพนันแล้ว จำนวน 2,898 รายการ


.
3. การแก้ปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัด ตัดตอนการโอนเงิน ซึ่งผลการดำเนินงานถึง 17 ตุลาคม 2567 มีการระงับบัญชีม้ารวมกว่า 1,100,000 บัญชี แบ่งเป็น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ปิด 559,843 บัญชี ธนาคาร 300,000 บัญชี และศูนย์ AOC 1441 ระงับ 324,192 บัญชี
.
4. การแก้ปัญหาบัญชีม้านิติบุคคล ซึ่งจากการเร่งปิดบัญชี และจับกุมบัญชีม้าอย่างเข้มข้น คนร้ายจึงใช้วิธีจดทะเบียนนิติบุคคลและทำการเปิดบัญชีเพื่อใช้ทำผิดกฎหมาย โดยคณะกรรมการฯ ได้ขอให้ กระทรวงพาณิชย์ ช่วยเร่งเพิ่มมาตรการในการตรวจสอบกรรมการที่มีชื่อในนิติบุคคลว่าเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมหรือไม่


.
5.การแก้ไขปัญหาซิมม้า และ ซิมม้าที่ผูกกับ mobile banking มีผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 15 ตุลาคม 2567 มีดังนี้ การกวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย โดย สำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการโทรคมนาคมได้ระงับซิมม้าแล้ว จำนวนกว่า 2.7 ล้านเลขหมาย , การระงับหมายเลขโทรออกเกิน 100 ครั้ง/วัน แล้ว 101,117 เลขหมาย มีผู้มายืนยันตัวตน 418 เลขหมาย ไม่มายืนยันตัวตน 100,699 เลขหมาย , มาตรการคัดกรองผู้ใช้งาน Mobile Banking โดยดำเนินการตรวจสอบข้อมูล Cleansing Mobile Banking จำนวน 120.3 ล้านบัญชี มีรายละเอียด ดังนี้ กลุ่มหมายเลขบัตรประชาชน ตรงกันกับเบอร์มือถือและบัญชี Mobile Banking มีจำนวน 70.0 ล้านบัญชี คิดเป็นร้อยละ 58 , กลุ่มหมายเลขบัตรประชาชน ไม่ตรงกันกับเบอร์มือถือและบัญชี Mobile Banking มีจำนวน 28.6 ล้านบัญชี คิดเป็นร้อยละ 24 , กลุ่มที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากไม่พบฐานข้อมูล มีจำนวน 21.7 ล้านบัญชี คิดเป็นร้อยละ18


.
6. การดำเนินการเรื่องเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน โดยสำนักงาน กสทช. แจ้งดำเนินการรื้อถอนเสาสัญญาณ (สถานี) ในพื้นที่ 7 จังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ตาก สระแก้ว จันทบุรี ระนอง บุรีรัมย์ สุรินทร์ รวม 393 สถานี คิดเป็น 100 % นอกจากนี้ยังมีการกำหนดมาตรการความปลอดภัยสำหรับการส่ง SMS แนบลิงก์ โดยใช้แนวทางการ Cleansing Sender Name โดย Sender Name ที่ประสงค์ SMS แนบลิงก์ จะต้องลงทะเบียนกับผู้ให้บริการทุกครั้ง โดยต้องระบุรายละเอียดของข้อความและลิงก์ก่อนส่ง SMS และผู้ให้บริการต้องตรวจสอบข้อความและลิงก์ทุกครั้ง ก่อนส่ง SMS ให้กับผู้รับ


.
7. มาตรการการป้องกันการโทรหลอกลวง ภายใต้โครงการ DE-fence platform
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากสายเรียกเข้า และ SMS ที่มีลักษณะก่อกวน หรือหลอกลวงของมิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนในมูลค่าที่สูงมาก พร้อมทั้งการที่คนร้ายใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงไปอย่างรวดเร็ว กระทรวง ดีอี จึงได้มีการประชุมหารือแนวทางการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง เพื่อเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ในการแจ้งเตือนประชาชนก่อนจะรับสาย ช่วยในการคัดกรองสายเรียกเข้าและข้อความสั้น ภายใต้โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง “DE-fence platform” ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลว่า สายเรียกเข้าเป็นเบอร์คนร้ายโทร หรือ เบอร์ต้องสงสัย เป็นต้น เพื่อป้องกันปัญหาการโทรหลอกลวง


.
8.การแก้ปัญหาหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ดำเนินการออก ‘ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการบริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ.2567 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 นั้น พบว่าได้รับความร่วมมือและการตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการขนส่งสินค้า และประชาชนผู้บริโภค โดยสามารถป้องกันปัญหาการได้รับสินค้าที่ไม่ตรงตามที่สั่ง หรือสินค้าที่ไม่มีคุณภาพได้ และพบว่ามีสถิติการร้องเรียนเรื่องได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งลดลงร้อยละ 10 จากก่อนหน้านี้
.
9. การบูรณาการข้อมูล โดยศูนย์ AOC 1441นั้นเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ศูนย์ AOC 1441 เป็นแพลตฟอร์มรับและแลกเปลี่ยนข้อมูลบูรณาการข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการจัดการบัญชีม้า ซิมม้า และคนร้ายได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยการแต่งตั้งคณะอนุกรรมด้านข้อมูลศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) เพื่อทำหน้าที่ประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของศูนย์ AOC 1441 และการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ พร้อมกับการบูรณาการ วิเคราะห์ เชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ จัดทำสถิติ และประมวลผลข้อมูลการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ในภาพรวมของประเทศ เพื่อให้เห็นแนวโน้มสถานการณ์ ผลสำเร็จการดำเนินการมาตรการ ปัญหา อุปสรรค และนำไปสู่การกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพเป็นไปตามคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์มอบหมาย
.
“ในภาพรวม กระทรวงดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้บูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อกวาดล้างอาชญากรรมออนไลน์ บัญชีม้าและซิมม้า และเร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้แก่ประชาชน ซึ่งส่งผลให้มูลค่าความเสียหายในเดือนกันยายน 2567 จากคดีออนไลน์ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเหลือจำนวน 1,974 ล้านบาท โดยแม้ตัวเลขจะยังสูงอยู่ แต่ก็ลดลงกว่า 1,500 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค. – มิ.ย.67) ที่มีความเสียหายเฉลี่ย 3,514 ล้านบาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม คกก. ได้หารือถึงการเร่งรัดการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาสำหรับประชาชนให้เป็นรูปธรรมตามนโยบายรัฐบาลของรัฐบาลต่อไป” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีกล่าว

////////////////////////////

ข่าวที่น่าติดตาม