23/11/2024

กาฬสินธุ์-ติวเข้มเยาวชน ผูกจิตวัยใส รักอย่างไรไม่ให้เสี่ยง หลีกเลี่ยงยาเสพติด

สมาคมสตรีอาเซียนกาฬสินธุ์ ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรม จ.กาฬสินธุ์ และโรงเรียนกมลาไสย อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดโครงการผูกจิตวัยใส รักอย่างไรไม่ให้เสี่ยง หลีกเลี่ยงยาเสพติด พร้อมมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดี ฐานะยากจน

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ที่หอประชุมโรงเรียนกมลาไสย อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ นางนภสร พระยาลอ วัฒนธรรม จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานจัดโครงการผูกจิตวัยใส รักอย่างไรไม่ให้เสี่ยง หลีกเลี่ยงยาเสพติด โดยมี ดร.นิภา อาจริยาบาล นายกสมาคมสตรีอาเซียนกาฬสินธุ์ นายนิมิตร รอดภัย ที่ปรึกษาสมาคมสตรีอาเซียนกาฬสินธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกมลาไสย พร้อมด้วยคณะกรรมการสมาคมสตรีอาเซียนฯ คณะครู นักเรียน ระดับชั้น ม.1-5 จำนวน 200 คนร่วมโครงการ

 

ดร.นิภา อาจริยาบาล นายกสมาคมสตรีอาเซียนกาฬสินธุ์ กล่าวว่าเนื่องจากวัยรุ่น หรือกลุ่มบุคคลที่มีอายุระหว่าง 5-15 ปี เป็นช่วงที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญา โดยมีลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือมีการพัฒนาทางร่างกาย โดยเฉพาะมีการเปลี่ยนแปลงทางเพศ มีการพัฒนาทางด้านจิตใจ ซึ่งเป็นระยะที่เปลี่ยนแปลงจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ และมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม โดยเปลี่ยนแปลงจากการพึ่งพาครอบครัวมาเป็นผู้ที่สามารถประกอบอาชีพ และมีรายได้ของตนเอง หรือมีสิทธิทางกฎหมายในเรื่องต่างๆ เช่น ห้ามเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ทำงาน เยาวชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป หากกระทำผิดต้องขึ้นศาลผู้ใหญ่ เป็นต้น

 

“ด้านการพัฒนาการทางอารมณ์ และจิตใจ พบว่าวัยรุ่น อยากรู้ อยากทดลอง ต้องการการยอมรับจากเพื่อน ดังนั้น สมาคมตรีอาเซียนกาฬสินธุ์ ที่มีภารกิจด้านการช่วยเหลือ มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทางสังคม และได้ตระหนักถึงความสำคัญของวัยรุ่น เป็นวันวัยที่อาจถูกชักจูงได้ง่าย ขาดความนับถือตนเอง รวมทั้งขาดทักษะในการดำเนินชีวิต ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงในด้านต่างๆ เช่น ขับรถประมาท เที่ยวกลางคืน นำไปสู่การใช้สารเสพติด มีเพศสัมพันธ์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์ในภาวะที่ไม่พร้อมของวัยรุ่น ซึ่งภาวะเสี่ยงดังกล่าวเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตของวัยรุ่น ได้แก่ การทำแท้งเถื่อน การคลอดบุตรทั้งที่มีอายุน้อย การติดเชื้อ HIV และการกระทำผิดโดยไม่ทราบกฎหมายและสิทธิที่ได้รับ” ดร.นิภากล่าว

 

ดร.นิภากล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดโครงการผูกจิตวัยใส รักอย่างไรไม่ให้เสี่ยง หลีกเลี่ยงยาเสพติด เพื่อสร้างความตระหนัก และถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องบทบาท และหน้าที่ คุณค่าของความเป็นชาย/หญิงในสังคม เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางเพศ การจัดการอารมณ์ สัมพันธภาพทางเพศ และลดพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของวัยรุ่น การเสริมสร้างสุขภาพอนามัยวัยรุ่น, เพื่อส่งเสริมความภาคภูมิใจในตนเองของวัยรุ่น และมีทักษะในการปฏิเสธพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการดำรงชีวิต และให้ความรู้สิทธิ หน้าที่ บทบาทของเด็กและเยาวชน กฎหมายต่างๆ รวมถึงบทลงโทษเกี่ยวกับยาเสพติด โดยผลที่คาดว่าจะได้รับ นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจและภูมิคุ้มกัน ในการจัดการกับสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศและยาเสพติด, นักเรียนตระหนักถึงปัญหาของการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น และเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง และนักเรียนมีทักษะในการเอาตัวรอด การปฏิเสธต่อพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการดำรงชีวิตในสังคมอีกด้วย

ข่าวที่น่าติดตาม