22/11/2024

เลขาฯ “อารี” ร่วมขับเคลื่อนความปลอดภัยเพื่อลูกจ้าง ตั้งเป้าลดอุบัติเหตุในการทำงานไม่เกิน 1.5 คน : 1,000 คน ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้

เลขาฯ “อารี” ร่วมขับเคลื่อนความปลอดภัยเพื่อลูกจ้าง ตั้งเป้าลดอุบัติเหตุในการทำงานไม่เกิน 1.5 คน : 1,000 คน ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้

 

​วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการเสวนาการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน โดยมี นายจิรวัตร์ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นางมารศรี ใจรังษี ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน คณะอนุกรรมการพัฒนาส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน ผู้ร่วมงานเสวนาและสื่อมวลชนให้การต้อนรับ ณ โรงแรมบุรีศรีภู จังหวัดสงขลา



​นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานประชุมวิชาการเสวนาการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยความร่วมมือในการดำเนินการส่งเสริมและป้องกันเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน แก่ลูกจ้าง ระหว่าง สำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระบรมราชูปถัมภ์

กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย ในการดูแลลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นสร้างการรับรู้และการตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงาน และเมื่อเกิดการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ก็จะได้รับสวัสดิการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยฯ ที่ดี จากผลการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างในช่วงปี 2562 – 2566 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการประสบอันตรายกรณีร้ายแรงลดลงจาก 2.53 ต่อ 1,000 ราย เหลือ 2.13 ต่อ 1,000 ราย และมีเป้าหมายในปี 2567 อัตราการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานต้องน้อยกว่าปี 2566 โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 อัตราการประสบอันตรายเท่ากับ 1.55 ต่อ 1,000 ราย นั้น

 
​การจัดงานประชุมเสวนาฯ ในครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องแรงงานเป็นอย่างมากที่ทุกหน่วยงาน จะได้สร้างการรับรู้ผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ รวมถึงผลงานของคลินิกโรคจากการทำงานที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทน อีกทั้งยังได้แลกเปลี่ยนความรู้ เสนอข้อคิดเห็น และแนวทาง สร้างความปลอดภัยในการทำงานให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการจัดกิจกรรมดังกล่าวมีความสำคัญ เพราะนอกจากจะใช้เป็นเวทีแห่งการรับฟังและเสนอข้อคิดเห็นฯ จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมวิธีป้องกันความปลอดภัย เพื่อลดอุบัติเหตุในการทำงานให้ลูกจ้างเพิ่มมากขึ้นแล้ว กระทรวงแรงงาน

 

โดยสำนักงานประกันสังคมยังใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ ในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และก้าวทันตามกระแสเปลี่ยนแปลง ของเทคโนโลยียุคใหม่ เพื่อให้สังคมแรงงานเข้าถึงข้อมูลของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยกิจกรรมในครั้งนี้ ยังได้มีการมอบโล่และประกาศเกียรติคุณให้สถานประกอบการที่สามารถส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานฯ ซึ่งเป็นรางวัลที่ยืนยันถึงผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่สามารถใช้เป็นต้นแบบและจูงใจให้สถานประกอบการอื่น ๆ เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมความปลอดภัยและป้องกันอันตรายให้แก่ลูกจ้างอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

 

​ด้าน นางมารศรี ใจรังษี ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานประชุมวิชาการเสวนาฯ ในครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจความสำคัญของงานกองทุนเงินทดแทนแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะในการดำเนินการสนับสนุนงบประมาณด้านการป้องกันและส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน จากการเสวนาทางวิชาการเกี่ยวกับความปลอดภัย ในการทำงาน ยังมีการจัดนิทรรศการสร้างการรับรู้งานประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนอีกด้วย มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้กว่า 350 คน โดยความคาดหวังให้เกิดความปลอดภัยและการตระหนักถึงการลดอุบัติเหตุในการทำงานในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ให้ไม่เกิน 1.5 คน ต่อลูกจ้าง 1,000 คน และให้ครอบคลุมทั่วประเทศในอนาคต
————————————-
ศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

ข่าวที่น่าติดตาม