22/11/2024

แพทย์ทหารเตือน “โรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูหนาว” ของประเทศไทย

แพทย์ทหารเตือน “โรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูหนาว” ของประเทศไทย
     ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายการเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศไทยปี 2567 จะเริ่มต้นในวันที่  29 ตุลาคม 2567 นี้ และจะสิ้นสุดฤดูหนาวในช่วงปลายเดือน กุมภาพันธ์ 2568 ตามเกณฑ์การพิจารณาการเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศไทย ซึ่งปีนี้ช้ากว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 2 สัปดาห์ และคาดว่าจะหนาวเย็นกว่าปีที่แล้ว โดยช่วงอากาศหนาวเย็นที่สุดจะอยู่ในเดือน ธันวาคม 2567 ถึง มกราคม 2568 อุณหภูมิต่ำที่สุดประมาณ 6 – 8 องศาเซลเซียส ส่วนมากบริเวณตอนบนของทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งอากาศที่หนาวเย็นอาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย ทั้งนี้ กองทัพภาคที่ 3/ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3จึงขอให้พี่น้องประชาชนป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
     กลุ่มที่ 1 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ สามารถติดต่อจากการไอ จามรดกัน หรือสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อร่วมกัน หากได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการไข้ ไอแห้งๆ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบและเจ็บคอ โรคปอดอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อราบางชนิดที่ถุงลมปอดจากการหายใจหรือสัมผัสละอองฝอยจากน้ำมูก น้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อ จะมีอาการไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย อาการดังกล่าวมักเฉียบพลัน และพบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่จะมีอาการรุนแรงในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและมีโรคประจำตัว โดยทั้งสองโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเเอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน
     กลุ่มที่ 2 โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อโรค จะมีอาการถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน อาจมีไข้หรืออาเจียนร่วมด้วย ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการดูแลสุขอนามัย ดื่มน้ำสะอาดและรับประทานอาหารที่ปรุงและสะอาด
    กลุ่มที่ 3 โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว ได้แก่ โรคหัด เกิดจากการหายใจเอาละอองอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสจากการไอ จามของผู้ป่วย หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ หากป่วยอาการจะคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา แต่จะมีใช้สูง ตาแดงและแฉะ และมีผื่นนูนแดงขึ้นติดกันเป็นปื้นๆ ปัจจุบันไม่มียารักษาจำเพาะ แต่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ โดยต้องฉีดเข็มแรก ตอนอายุ 9 – 12 เดือน เข็มสอง ตอนอายุ 1 ปีครึ่ง
    และกลุ่มที่ 4 ภัยสุขภาพ การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว โดยไม่ทราบสาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เนื่องจากไม่มีเครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องห่มกันหนาวที่เพียงพอในพื้นที่อากาศหนาว และมีประวัติการดื่มสุราเป็นประจำ ดังนั้นควรเตรียมเครื่องนุ่งห่มกันหนาวให้พร้อม และเพียงพอ และงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งดูแลร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
    ในการนี้ พลโท กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 และคณะแพทย์ทหาร จึงมีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จัดหวัดภาคเหนือ ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพขั้นต้น ซึ่งหากพบว่าตนเองหรือคนรอบช้างมีอาการบ่งชี้ หรือสงสัยว่ามีภาวะหรืออาการดังกล่าว ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และรักษาต่อไป
ปรีชา นุตจรัส รายงานข่าว

ข่าวที่น่าติดตาม