23/11/2024

“ดร. เฉลิมชัย“แถลงในนามประเทศไทยเวที COP29 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มขีดความสามารถรับมือโลกเดือดให้กับประเทศกำลังพัฒนา

ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งชแวดล้อม (รมว.ทส.) หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในเวทีการประชุมระดับสูง (Resumed high-level segment) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP 29) ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน

 

โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และคณะผู้บริหารกระทรวงฯ เข้าร่วมการประชุมฯ

ดร.เฉลิมชัย ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย แสดงความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด และที่ผ่านมาได้เผชิญกับภัยพิบัติด้านสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงเศรษฐกิจและความหลากหลายทางชีวภาพ ในขณะที่ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของทั้งโลก แต่ยังคงมุ่งมั่นยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเต็มความสามารถ บนหลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง เพื่อบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกตามกรอบ NDC 2030 ให้ได้ 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากการดำเนินงานใน 5 สาขา ได้แก่ พลังงาน คมนาคม การจัดการของเสียชุมชนและน้ำเสียอุตสาหกรรม กระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และการเกษตร โดยมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนเพื่อรองรับการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งเร่งดำเนินงานไปสู่ NDC 3.0 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ต่ำกว่า 270 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2035 จากปีฐาน 2019  มุ่งสู่การลดก๊าซเรือนกระจกจากค่าการปล่อยจริง ควบคู่ไปกับการจัดทำแผนการลงทุนสีเขียว รวมถึงเร่งเพิ่มการดูดกลับของภาคป่าไม้ให้ได้ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2037

ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยได้มุ่งเน้นบูรณาการแผนการปรับตัวระดับชาติ ให้เชื่อมโยงกับการดำเนินงานระดับท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมใน 6 สาขา ได้แก่ การจัดการน้ำ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว การสาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าในระดับพื้นที่ รวมไปถึงการเร่งฟื้นฟูและคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง และที่สำคัญได้ขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติในทุกระดับอย่างเป็นระบบและบูรณาการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายภายใต้ความตกลงปารีส ด้วยการผลักดันกลไกความเป็นหุ้นส่วนภาครัฐ เอกชนและประชาชน โดยการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย 2024  เพื่อเสริมพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อีกทั้งเร่งผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างการดำเนินงานอย่างสมดุล ทั้งด้านกลไกราคาคาร์บอน และกองทุนการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ที่มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน

สำหรับการประชุม COP 29 นี้ ประเทศไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ข้อตัดสินใจในการระดมเงินตามเป้าหมายทางการเงินใหม่ รวมถึงจะได้ความชัดเจนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ แนวทางและข้อกำหนดในการเข้าถึงกองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหาย เพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศกลุ่มเปราะบาง มีขีดความสามารถในการขับเคลื่อนการดำเนินงานได้อย่างรวดเร็วและเต็มประสิทธิภาพ ตลอดจนมีศักยภาพในการเผชิญความเสี่ยงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างเหมาะสม และเชื่อว่าห้วงเวลานี้จะเป็นห้วงเวลาสำคัญในการกำหนดทิศทางดำเนินงานสร้างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายของความตกลงปารีสได้อย่างแข็งแกร่ง รวมถึงขอเรียกร้องให้ประชาคมโลกมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แสดงความมุ่งมั่นอย่างจริงใจ ที่จะร่วมกันรักษาโลกใบนี้ให้คงอยู่เพื่อให้อนุชนรุ่นต่อไปได้อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน .